ไทยจะได้อะไรจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)

Script Writer
จีรณัทย์ ชาญเชิงพานิช, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-12
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจถือเป็นการร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอย่างเป็นทางการเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ลดข้อจำกัดระหว่างกัน และรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน โดยประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asia Nation : ASEAN) ประกอบด้วย 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน เวียดนาม เมียนมา ลาว และกัมพูชา ร่วมมือกับประเทศภาคีอีก 5 ประเทศ ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) โดยมีจุดมุ่งหมายในการขจัดอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมการลงทุน เพื่อช่วยให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก้าวทันประเทศอื่นในโลกได้ และถือเป็นความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เนื่องจากครอบคลุมประชากรในประเทศสมาชิกกว่า 2.2 พันล้านคน หรือประมาณร้อยละ 30 ของประชากรโลก มีขนาดผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ของประเทศสมาชิกรวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 30 ของ GDP โลก

RCEP ไม่เพียงแต่เป็นข้อตกลงด้านการค้าสินค้าและบริการ หรือการลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีเท่านั้น แต่ RCEP ยังมีกฎเกณฑ์ที่ครอบคลุมการเปิดเสรีในเชิงลึก คือ การขยายความตกลงไปจนถึงเรื่องการลงทุน การบริการ และการเปิดกว้างในประเด็นการค้ายุคปัจจุบัน เช่น การแข่งขันทางการค้า การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การส่งเสริมนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรัฐสมาชิก การอำนวยความสะดวกในการค้ายุคใหม่ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความโปร่งใสของกฎระเบียบ นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการเชิงกว้าง คือ การเปิดรับสมาชิกต่าง ๆ ที่สนใจสมัครเข้าร่วมในความตกลงอีกด้วย ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีมิติที่ลึกกว่ากรอบความตกลงอาเซียน ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น
 
ทั้งนี้ เมื่อประเทศไทยได้เข้าร่วมความตกลง RCEP ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 แล้ว สิ่งที่อาจจะส่งผลต่อการค้าและการลงทุนของประเทศไทย มีดังนี้ 

  1. การพัฒนามาตรฐานสินค้าและบริการที่สูงขึ้น เนื่องจาก RCEP เป็นข้อตกลงที่เปิดกว้างและมีมาตรฐานด้านต่าง ๆ ที่สูง เปิดโอกาสให้สินค้าไทยได้พัฒนาและเตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีการเจรจาทำข้อตกลงทางการค้าอื่น ๆ ที่มีมาตรฐานที่สูงในกรอบด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป (EU) และสหราชอาณาจักร (UK) ต่อไป 
  2. เพิ่มบทบาทในการแข่งขันทางการค้าโลก เนื่องจาก RCEP มีจีนเป็นแกนนำความตกลงทำให้ภูมิภาคนี้มีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลกอีกทั้งเป็นการช่วยถ่วงดุลอิทธิพลชาติตะวันตกที่มีต่อประเทศสมาชิกโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน 
  3. RCEP จะกลายเป็นกลุ่มการค้าที่มีห่วงโซ่การผลิตที่เอื้อประโยชน์ต่อการผลิตและการค้าในซีกโลกตะวันออก ด้วยจุดเด่นของกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origins) ทำให้ผู้ผลิตสามารถสะสมถิ่นกำเนิดได้เพิ่มขึ้นจาก 10 ประเทศอาเซียน เป็น 15 ประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการไทยและผู้บริโภคไทยได้ประโยชน์จากการเข้าถึงวัตถุดิบ สินค้าและบริการที่ราคาถูกและมีคุณภาพดี จาก 15 ประเทศภาคี
  4. ลดความยุ่งยากซับซ้อนในการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า รวมทั้งรูปแบบหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่มีการใช้แตกต่างกัน เช่น ความตกลงกรอบ ASEAN ใช้ Form D ความตกลง ASEAN-จีน ใช้ Form E ความตกลง ASEAN-ญี่ปุ่น ใช้ Form AI เป็นต้น ให้มาอยู่ในรูปแบบเดียวกันทั้ง 15 ประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์จากความตกลง RCEP ประเทศไทยต้องปรับตัวให้สอดรับกับมาตรฐานที่สูงขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการทำความตกลงต่อไปในอนาคต รวมถึงการยกระดับภาคการผลิตของประเทศไทยให้สอดคล้องกับความต้องการที่ทันกระแสโลก สำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชนและภาครัฐ ต้องเร่งดำเนินการเตรียมตัวและปรับตัวให้เร็ว โดยจะต้องศึกษากฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำความเข้าใจและเปรียบเทียบข้อตกลงใดให้สิทธิประโยชน์มากกว่ากัน และต้องพิจารณาถึงต้นทุนในการใช้สิทธิประโยชน์ด้วยว่า ความตกลงใดช่วยให้ต้นทุนทางธุรกิจต่ำที่สุดเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการแข่งขันทางการค้า

ภาพปก