ความสัมพันธ์คู่เจรจา จีนและอาเซียน ในรอบ 30 ปี

Script Writer
ยุทธพงศ์ ปิ่นอนงค์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-02
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ความสัมพันธ์คู่เจรจาระหว่างจีนและอาเซียน ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2534 เมื่อครั้งที่ นายเฉียน ฉีเซิน รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ในช่วงสมัยประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิง โดยเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในฐานะแขกของรัฐบาลมาเลเซีย ต่อมาจีนได้รับสถานะคู่เจรจาอย่างเต็มรูปแบบของอาเซียนเมื่อ พ.ศ. 2539 

เมื่อ พ.ศ. 2545 จีนเป็นประเทศคู่เจรจาประเทศแรกที่เสนอให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับอาเซียน โดยทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามในกรอบความตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียนและจีน (ASEAN-China Framework Agreement on Economic Cooperation) ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2546 ความสัมพันธ์คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายได้ยกสถานะขึ้นเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Strategic partnership) จนถึงปัจจุบัน 

ปัจจุบันจีนและอาเซียน มีความร่วมมือครอบคลุมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ 12 สาขาหลัก ได้แก่ (1) การเกษตร (2) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) (3) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (4) การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง (5) การลงทุน (6) พลังงาน (7) การขนส่ง (8) วัฒนธรรม (9) สาธารณสุข (10) การท่องเที่ยว (11) สิ่งแวดล้อม และ (12) อุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่า ในความร่วมมือหลาย ๆ ด้านที่กล่าวไปนั้น จีนต้องการช่วยเหลือและพัฒนาช่องว่างที่เกิดขึ้นในประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศทำหน้าที่เป็นประเทศผู้ประสานงานหลัก แบ่งตามความเชี่ยวชาญแต่ละสาขาเพื่อส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ร่วมกันระหว่างจีนและอาเซียน ดังนี้ 

    1) ประเทศไทย รับผิดชอบประสานงานหลักด้านการท่องเที่ยวและการบิน 
    2) ประเทศฟิลิปปินส์ รับผิดชอบประสานงานหลักด้านอิเล็กทรอนิกส์
    3) ประเทศมาเลเซีย รับผิดชอบประสานงานหลักด้านผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม
    4) ประเทศเมียนมาร์ รับผิดชอบประสานงานหลักด้านผลิตภัณฑ์เกษตรและประมง
    5) ประเทศเวียดนาม รับผิดชอบประสานงานหลักด้านโลจิสติกส์
    6) ประเทศสิงคโปร์ รับผิดชอบประสานงานหลักด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสุขภาพ
    7) ประเทศอินโดนีเซีย รับผิดชอบประสานงานหลักด้านยานยนต์และผลิตภัณฑ์ไม้

โดยตลอดระยะเวลา 30 ปีความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียนนั้น ได้มีการพัฒนาความร่วมมือในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการค้าร่วมกันซึ่งมีมูลค่าด้านการค้าในช่วงต้นปี 2563 จำนวนกว่า 3.5 แสนล้านเหรียญ แม้จะอยู่ในช่วงโรคระบาดเชื้อโควิด 19 แล้วก็ตาม ซึ่งความสัมพันธ์จีนและอาเซียน ถือว่าเป็นคู่ค้าสำคัญและเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกันในย่านเอเชียแปซิฟิก 

ทั้งนี้ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน ได้นำเสนอแนวคิดข้อเสนอแนะที่สำคัญเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความร่วมมือทั้งสองฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยมีแนวคิด ดังนี้ (1) จีนยึดมั่นหลักการที่จะให้ความสำคัญกับอาเซียนเป็นอันดับแรกในการทูตประเทศรอบข้าง (2) มุ่งสนับสนุนความสามัคคีและการสร้างสรรค์ประชาคมอาเซียน (3) มุ่งสนับสนุนอาเซียนเป็นศูนย์กลางของโครงสร้างภูมิภาค และ (4) มุ่งสนับสนุนให้อาเซียนแสดงบทบาทมากยิ่งขึ้นในกิจการส่วนภูมิภาคและกิจการระหว่างประเทศอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ส่วนข้อเสนอแนะนั้น ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งจีนและอาเซียน ที่สำคัญมี 5 ประการ ดังนี้ (1) ร่วมกันสร้างบ้านที่สงบสุข (2) สร้างบ้านที่ปลอดภัยด้วยกัน (3) ร่วมกันสร้างบ้านที่เจริญรุ่งเรือง (4) ร่วมกันสร้างบ้านที่สวยงาม และ (5) ร่วมกันสร้างบ้านที่เป็นมิตรร่วมกัน 

จะเห็นได้ว่า การสถาปนาความสัมพันธ์คู่เจรจาตั้งแต่ พ.ศ. 2534 เป็นต้นมานั้น ผลจากแนวคิดและข้อเสนอแนะของประธานาธิบดีจีน นำมาสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยด้านเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดเจนแล้วว่ามูลค่าการส่งเสริมการค้าเสรีระหว่างกันที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี  รวมไปถึงความร่วมมือด้านการเมืองและด้านสังคม สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของอาเซียนที่ต้องการให้เกิดการส่งเสริมประชาคมที่เข้มแข็งและความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายด้วยเช่นกัน
 

ภาพปก