กล่องสุ่ม

Script Writer
อานันท์ เกียรติสารพิภพ, นิติกรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-01
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัจจุบันการจำหน่าย “กล่องสุ่ม” (Lucky Box หรือ Mysterious Box) กำลังได้รับความนิยมในการซื้อขายออนไลน์ กล่องสุ่มนั้นมีที่มาจากประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคสมัยเอโดะ (พ.ศ. 2146-2406) ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นมีการเติบโตอย่างมาก ร้านค้าต่าง ๆ จึงนำกลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้ เพื่อแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าแห่งโชคลาภทั้งเจ็ดของญี่ปุ่น โดยมีการจำหน่าย “ถุงนำโชค” ในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อให้ลูกค้าที่ได้รับสินค้ามีความสุขกับการโชคดีในตอนต้นปี โดยผู้ซื้อจะได้ลุ้นว่าในกล่องมีอะไรบ้าง เนื่องจากชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าหากเริ่มต้นด้วยความโชคดีในเทศกาลปีใหม่แล้ว ก็จะมีความโชคดีตลอดทั้งปี

สำหรับประเทศไทยวิกฤตการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา ส่งผลให้การซื้อขายออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ ร้านค้าต่างนำกลยุทธ์ด้านการตลาดต่าง ๆ ออกมาจูงใจผู้ซื้อ โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่กำลังเป็นกระแสในการซื้อขายออนไลน์ในปีที่ผ่านมา ได้แก่ การที่ร้านค้าจำนวนมากมีการเสนอขายสิ่งที่เรียกว่า “กล่องสุ่ม” มากขึ้น อาทิ กล่องสุ่มเสื้อผ้าภายในกล่องก็จะมีแค่เพียงเสื้อผ้าเท่านั้น กล่องสุ่มกระเป๋า กล่องสุ่มของใช้ภายในบ้าน และกล่องสุ่มชนิดรวมสินค้าหลากหลายประเภท เป็นต้น ซึ่งการจำหน่ายกล่องสุ่มนั้นอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยมีประเด็นพิจารณา 2 ประเด็น ดังนี้

1) ความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 มีข้อพิจารณา 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก การเล่นพนันนั้นต้องมีลักษณะเป็นการเสี่ยงโชคต่อการได้หรือเสียประโยชน์ การจัดกิจกรรมด้วยการให้ผู้สนใจซื้อกล่องสุ่มของผู้จำหน่าย เช่น กล่องสุ่มเครื่องสำอาง ราคา 100,000 บาท ซึ่งเป็นราคาตามปกติขั้นต่ำ โดยไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแต่อย่างใด ซึ่งผู้ซื้อกล่องสุ่มจะได้รับสินค้าเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท กรณีนี้จะไม่มีลักษณะต่อการได้หรือเสียประโยชน์ อันเป็นลักษณะสำคัญของการพนัน จึงอาจไม่เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 อย่างไรก็ตาม หากผู้ขายจัดสินค้าลงในกล่องสุ่มที่มีราคารวมกันต่ำกว่าราคาสินค้าที่กำหนด ก็จะเข้าข่ายเป็นการเสี่ยงต่อการได้หรือเสียประโยชน์ ประการที่สอง การจำหน่ายกล่องสุ่มดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัล ด้วยการเสี่ยงโชคโดยวิธีใด ๆ ในการประกอบกิจการค้าหรืออาชีพ ตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 หรือไม่ นั้น การเล่นใดจะเป็นการจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคที่จะต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 จะต้องเป็นการเล่นที่ครบองค์ประกอบ คือ (1) จัดให้มีการแถมพกหรือรางวัล (2) ด้วยการเสี่ยงโชคโดยวิธีใด ๆ (3) ในการประกอบกิจการค้าหรืออาชีพ และ (4) ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต

2) ความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มีข้อพิจารณา คือ การระบุข้อมูลในกล่องว่ามีเพียงประเภทสินค้า เช่น เครื่องสำอางหรือของใช้ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดสำคัญของสินค้า ทั้งฉลากและราคา อาจมีความผิดตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าได้อย่างชัดเจนว่ามีความจำเป็นก่อนตัดสินใจซื้อ

ผู้บริโภคมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะทราบว่าสินค้านั้นมีอะไรก่อนจึงจะตัดสินใจซื้อ แต่การนำสิ่งของมาใส่ในกล่องโดยไม่มีข้อมูลรายละเอียดของสิ่งของในลักษณะกล่องสุ่ม อาทิ การที่ผู้จำหน่ายสินค้าอาจแจ้งว่ามีการนำโทรศัพท์มือถือมาเป็นสิ่งจูงใจ โดยจำหน่ายกล่องสุ่มจำนวน 400-500 กล่อง แต่กลับมีโทรศัพท์มือถืออยู่เพียงกล่องเดียวเท่านั้น อาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ทั้งนี้ หากผู้บริโภคที่สั่งกล่องสุ่มมาแล้วไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในพื้นที่ได้ หรือใช้สิทธิฟ้องคดีคุ้มครองผู้บริโภคต่อศาลด้วยตัวเอง และสามารถร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ โดยพยานหลักฐานเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกค้าต้องเก็บไว้เพื่อต่อสู้คดี ประกอบด้วยคลิปการรีวิว การโฆษณา สลิปการโอนเงิน เพื่อสืบถึงผู้รับเงิน ข้อความสนทนาทางออนไลน์เกี่ยวกับตัวสินค้าหรือตัวเงินซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการต่อสู้คดีหรือร้องเรียน

สำหรับการตรากฎหมายในการควบคุมนั้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลรายละเอียดให้ครบถ้วนเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ และได้รับความเป็นธรรม พร้อมทั้งจะขยายผลไปถึงการดูแลเกี่ยวกับการเสนอขายสินค้าในรูปแบบของการไลฟ์สด การรีวิว ควรจะต้องมีกรอบที่ชัดเจนให้ผู้บริโภคไม่ถูกหลอกลวง และเท่าทันกับยุคดิจิทัลด้วย โดยคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเตรียมพิจารณาออกกฎกระทรวงเพื่อมาควบคุมการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม

ภาพปก