กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

Script Writer
วิชาญ ทรายอ่อน, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-01
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

“กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสำหรับการใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองและพัฒนาสมรรถภาพคนพิการ และองค์กรคนพิการด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพของคนพิการ รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ การจัดสวัสดิการการส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิ สนับสนุนให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอิสระ มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป มีส่วนร่วมทางสังคมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพภายใต้สภาพแวดล้อมที่คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้โดยจัดสรรให้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง

สถานะปัจจุบันกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 มีเงินทั้งสิ้น 6,476.72 ล้านบาท โดยเป็นเงินฝากคลัง 4,637.19 ล้านบาท และเป็นเงินหมุนเวียน 1,839.53 ล้านบาทโดยรายรับหลักของกองทุนฯ มาจากสถานประกอบการที่ไม่จ้างงานคนพิการตามมาตรา 34 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ว่าด้วยเรื่องการส่งเงินเข้ากองทุนกรณีที่นายจ้างหรือสถานประกอบการมิได้รับคนพิการเข้าทำงาน ซึ่ง พ.ศ. 2564 รายรับประมาณ 1,441 ล้านบาท ลดลงกว่าปี พ.ศ. 2563ประมาณ 400 ล้านบาท ทั้งนี้ เงินคงเหลือของกองทุนฯ เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือสุทธิประมาณ 4,367 ล้านบาท ในขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนคนพิการที่อายุ 18-59 ปีประมาณ 830,000 คน หากรวมคนพิการที่อายุต่ำกว่า 18 และอายุเกิน 60 ปีด้วย รวมทั้งหมดประมาณ 2,092,000 คน

หลักเกณฑ์ในการกู้คือ คนพิการที่จะกู้ยืมกรณีเป็นรายบุคคล ต้องเป็นคนพิการที่บรรลุนิติภาวะ มีบัตรประจำตัวคนพิการ มีความจำเป็นในการขอรับการสนับสนุนเงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพในท้องที่ที่ยื่นคำขอ  มีความสามารถในการประกอบอาชีพในเรื่องที่ขอรับการสนับสนุน หรือกรณีเป็นผู้ดูแลคนพิการก็สามารถกู้ยืมได้ แต่ต้องเป็นบุคคลที่มีชื่อและนามสกุลปรากฏอยู่ในบัตรประจำตัวคนพิการ และได้รับการรับรองเป็นหนังสือจากผู้แทนองค์กรด้านคนพิการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนา หรือข้าราชการระดับปฏิบัติการ หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือมีหลักฐานเชื่อได้ว่าเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการซึ่งมิได้มีหนี้สินกับกองทุนฯ สามารถกู้ยืมรายบุคคลรายละไม่เกิน 60,000 บาท กรณีการกู้ยืมแบบรายกลุ่ม ต้องเป็นคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่มีการจัดตั้งกลุ่มตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และมีหนังสือรับรองจากองค์กรด้านคนพิการที่เป็นนิติบุคคลหรือหน่วยงานภาครัฐว่าเป็นคนที่มีผลงานน่าเชื่อถือจริง สามารถกู้ยืมกลุ่มละไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยมีวงเงินเฉลี่ยในกลุ่มต่อบุคคลไม่เกินวงเงินคนละ 400,000 บาท โดยต้องมีหลักฐานจากสถาบันการเงินเกี่ยวกับการออมเงินของกลุ่มอย่างสม่ำเสมอมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน และดำเนินกิจกรรมของกลุ่มในท้องที่จังหวัดที่ยื่นคำขอต่อเนื่องจนถึงวันยื่นคำขอแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน รวมทั้งได้รับหนังสือรับรองจากองค์กรด้านคนพิการที่เป็นนิติบุคคลหรือหน่วยงานภาครัฐว่าเป็นกลุ่มที่มีผลงานน่าเชื่อถือ และต้องมีคนค้ำประกันทั้งแบบรายบุคคลและรายกลุ่ม กำหนดผ่อนชำระเงินกู้ภายในห้าปีโดยไม่มีดอกเบี้ยการชำระเงินจะกำหนดจำนวนเงินและงวดการผ่อนส่งตามสัญญากู้เงินกองทุนฯ ผู้ที่ประสงค์จะกู้ในส่วนกลางยื่นเรื่องที่กลุ่มแผนงานและพัฒนากองทุน กองบริหารกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือยื่นเรื่องที่ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน เขต 1-50 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ส่วนภูมิภาคสามารถยื่นเรื่องที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด โดยผลการพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินให้ผู้ขอรับการสนับสนุนแผนงานหรือโครงการจะทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนฯพิจารณาเสร็จ

กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จึงเป็นกองทุนที่สนับสนุนและช่วยให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยเข้าถึงเงินทุนในการประกอบอาชีพ มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้

ภาพปก