90 ปี รัฐสภาไทย การเดินทางและความหวัง

Script Writer
พิธุวรรณ กิติคุณ, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-07
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

นับแต่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ รัฐสภาเป็นหนึ่งในสถาบันทางการเมืองที่ใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญเสมือนตัวแทนของประชาชนในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฎหมาย การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และการให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนตามที่กฎหมายบัญญัติ การกำหนดรูปแบบของรัฐสภาไทยที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นสภาเดียวหรือสภาคู่ ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับและสถานการณ์ทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลา อีกทั้งในความเป็นรูปแบบสภาเดียวหรือสภาคู่นั้น บางช่วงเวลาเป็นสภาที่มีสมาชิกมาจาก การแต่งตั้งทั้งหมด หรือมาจากการแต่งตั้งและมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน หรือมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด แต่ไม่ว่ารูปแบบของรัฐสภาจะเป็นแบบใด บทบาทการทำหน้าที่ของรัฐสภาก็ไม่แตกต่างกันมากนัก

จากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาถึง 90 ปีแล้ว ถ้าเทียบกับช่วงอายุของคน รัฐสภาไทยถือว่าอยู่ในวัยชราที่เดินทางก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองที่สำคัญหลายครั้ง ซึ่งมีรูปแบบการปกครองที่หลากหลายทั้งระบอบประชาธิปไตยภายใต้อำนาจเผด็จการทหาร ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง และระบอบประชาธิปไตยภายใต้อำนาจกลุ่มทุน จวบจนได้พบจุดเปลี่ยนสำคัญที่เป็นความหวังในการเปิดกว้างเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ในการเสริมสร้างให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบและสร้างความโปร่งใสในการบริหารประเทศของรัฐบาล อาทิ การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การเข้าชื่อถอดถอน การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ การกำหนดให้มีองค์กรอิสระมากำกับดูแลกระบวนการเลือกตั้ง การมีกระบวนการตรวจสอบการทุจริตและการใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 อีกทั้งมีการบัญญัติให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นในการเสนอกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน คือ การที่นักการเมืองและนักธุรกิจเข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยผ่านการเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งบางคนอาจมีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ มีผลทำให้สังคมการเมืองไทยยังคงอยู่ในวังวนและวงจรของปัญหาการทุจริตซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาหลักของสังคมการเมืองไทย และมีแนวโน้มไปสู่ความขัดแย้งของฝ่ายต่าง ๆ ที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งนับเป็นความท้าทายของการพัฒนาการเมืองไทยในการเดินหน้าแก้ไขให้สังคมการเมืองไทยปราศจากการทุจริต เพื่อให้ประเทศไทยก้าวผ่านคำว่าทุจริตให้ได้ ถึงแม้ว่าในอนาคตอาจจะไม่สามารถทำให้การทุจริตหายไปอย่างสะอาดหมดจดได้ก็ตาม แต่อย่างน้อยเพื่อมุ่งหวังให้ในอนาคตประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีแนวโน้มการทุจริตที่ลดลง และหมดไปในที่สุด

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการทุจริตจึงควรเริ่มต้นจากคน ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของประเทศ หากมีคนดีที่มีความสุจริตเป็นส่วนใหญ่ สังคมย่อมมีการทุจริตเป็นส่วนน้อย ประเทศจะมีการเจริญก้าวหน้าในทุกภาคส่วน การสร้างความสุจริตให้เกิดขึ้นและดำรงอยู่จึงต้องอาศัยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินการขับเคลื่อนการเสริมสร้างวัฒนธรรมการสร้างความสุจริต ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากวัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติการสร้างความสุจริต จะเกิดจากกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ผ่านสภาพแวดล้อม ความรู้ความเข้าใจ และการปฏิบัติในระยะยาว ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้สังคมและประเทศชาติเกิดความสุจริตต่อไป 

การแก้ไขปัญหาการทุจริตโดยการสร้างความสุจริตในสังคมการเมืองไทยในอนาคตจะประสบผลสำเร็จหรือไม่เพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม พรรคการเมือง ประชาชน สื่อมวลชน และอื่น ๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวโดยตรง โดยทุกภาคส่วนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการคิดและทำงานร่วมกันเพื่อให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตและการสร้างความสุจริตเกิดผลขึ้นได้อย่างแท้จริง โดยต้องผลักดันให้ทุกคน ทุกฝ่าย และทุกภาคส่วนเกิดพลังเชิงบวก ทำให้เกิดความรู้สึกและสำนึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการทุจริตและร่วมสร้างความสุจริตให้เกิดขึ้น และต้องรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติร่วมกัน ในขณะเดียวกันรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดโอกาสและอำนวยความสะดวกให้ทุกคน ทุกฝ่าย และทุกภาคส่วน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการทุจริตและการสร้างความสุจริตอย่างเต็มที่ ไม่กีดกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไป แม้ว่าการแก้ไขปัญหาการทุจริตและการสร้างความสุจริตอาจใช้ระยะเวลาที่ยาวนานในอนาคต แต่ก็เป็นความหวังให้กับประเทศไทยที่มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในการสร้างความสุจริตและความโปร่งใสให้เกิดขึ้น อีกทั้งรัฐสภาไทยในฐานะตัวแทนของประชาชนจะต้องทำหน้าที่โดยยึดหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นความหวังหนึ่งของประเทศและประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากความเป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาต่อไป

ภาพปก