90 ปี การปฏิวัติสยาม

Script Writer
ฉัตรชัย ศรีเมืองกาญจนา, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-07
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล คณะผู้ปกครอง การเปลี่ยนกติกาการปกครอง หรือรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกประเทศ อย่างเช่นในกรณีของประเทศไทย หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 90 ปีที่แล้ว ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองการปกครองที่สำคัญของประเทศสยาม (ชื่อของประเทศไทยในสมัยนั้น) คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวได้กระทำโดยกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า “คณะราษฎร” ประกอบด้วยข้าราชการทหารและพลเรือน จำนวน 102 คน ทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยใช้ระยะเวลาปฏิบัติการประมาณ 3 ชั่วโมง คณะราษฎรก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมดโดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อ

ก่อนที่คณะราษฎรจะกระทำการเข้ายึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีการประชุมกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 2469 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ใช้เวลาวางแผนเป็นเวลาเกือบ 7 ปี จนกระทั่งเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เวลาประมาณ 5 นาฬิกา ได้มีการเข้ายึดอำนาจตามที่ได้วางแผนเอาไว้ โดยมีกองกำลังทหารบก ทหารเรือ และนักเรียนนายร้อยทหารบกประมาณ 2 พันคน พร้อมด้วยรถยนต์หุ้มเกราะจำนวนหนึ่งมารวมตัวกันบริเวณรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งทหารส่วนใหญ่ที่มาเข้าใจว่าเป็นการมาชมการฝึกซ้อมทางการทหาร จากนั้นนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ในฐานะหัวหน้าผู้เข้ายึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้อ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุผลของการยึดอำนาจ และได้ประกาศนโยบายหลักใหญ่ ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ 6 ประการ คือ 
1) จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง 

2) จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก 

3) ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก 

4) จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน 

5) จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนั้นไม่ขัดต่อหลักสี่ประการดังกล่าวข้างต้น

6) จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

เมื่อคณะราษฎรกระทำการยึดอำนาจสำเร็จ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปโดยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินตามที่คณะราษฎรได้จัดเตรียมร่างเอาไว้ และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร ไม่อยากให้มีการเสียเลือดเนื้อ รวมทั้งความเสียหายแก่บ้านเมือง และเนื่องจากพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว จึงไม่ทรงขัดความปรารถนาของคณะราษฎรที่ได้กราบบังคมทูลเชิญเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ จากนั้นมีตัวแทนของคณะราษฎรได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่คณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน และร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมเพียงฉบับเดียว ส่วนร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามทรงขอไว้พิจารณาอีกหนึ่งวันอันเนื่องจากปัญหาความเป็นประชาธิปไตยของกฎหมายสูงสุด และในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม โดยพระองค์ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” กำกับต่อท้าย และมีพระราชกระแสรับสั่งแก่คณะราษฎรว่าให้ใช้เป็นการชั่วคราว หลังจากนั้นในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ได้มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้มีมติเลือกคณะผู้บริหารประเทศคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการราษฎร” เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน อีกทั้ง ที่ประชุมยังได้มีการแต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไป

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ถือเป็นปฐมรัฐธรรมนูญของประเทศไทย การปฏิวัติของคณะราษฎรในปี 2475 หรือนักวิชาการบางท่านใช้คำว่า “การอภิวัฒน์” จึงมีความสำคัญทั้งในแง่ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองและในแง่ระบบกฎหมายสมัยใหม่ของประเทศไทยด้วยในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ในทางประวัติศาสตร์ ช่วงระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2475 ถือเป็นวันอภิวัฒน์เพื่อก่อร่างชีวิตรัฐแบบใหม่ขึ้น ส่วนในทางกฎหมาย อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvoir Constituant) ได้ปรากฏขึ้นในนาม “คณะราษฎร” โดยกำหนดให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary System) และมีโครงสร้างทางกฎหมายตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ 
 

ภาพปก