โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

Script Writer
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-03
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever: ASF) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในสุกรที่ร้ายแรง โดยมีรายงานการกระจายของโรคที่แอฟริกาใต้และแอฟริกาตะวันออกเมื่อปี 2464 จากนั้นได้มีการแพร่ระบาดไปยังภูมิภาคอื่น ได้แก่ ยุโรป อเมริกากลางและใต้ สหภาพโซเวียต และเอเชีย โดยมีรายงานการระบาดครั้งแรกในสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี 2561 ต่อมาได้แพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยด้วย และเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 มีรายงานการตรวจพบผลบวกเชื้อไวรัสโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจากตัวอย่างพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์ที่ประเทศไทยในจังหวัดนครปฐม

อย่างไรก็ตาม โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever: ASF) ยังไม่มีรายงานการติดต่อสู่คนและสัตว์ชนิดอื่น แต่เป็นโรคที่ติดเชื้อไวรัสเฉพาะสุกรเท่านั้น โดยสามารถติดต่อได้ทางการกิน หายใจ หรือทางบาดแผล รวมถึงถูกเห็บอ่อนซึ่งเป็นพาหะนำโรคกัด และมีช่องทางการรับเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อจากสุกรที่ป่วย หรือติดต่อทางอ้อมจากการสัมผัสวัตถุที่เป็นพาหะนำโรค เช่น สัมผัสโรงเรือน ยานพาหนะ เครื่องมือเครื่องใช้ เสื้อผ้าที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงการกินเศษอาหารที่มีเนื้อสุกรที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสผสมอยู่ หรือถูกเห็บอ่อนซึ่งเป็นพาหะนำโรคกัด สุกรที่ติดเชื้อไวรัสจะแสดงอาการไข้สูง เบื่ออาหารกะทันหัน เลือดออกทางผิวหนังและอวัยวะภายในโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต่อมน้ำเหลือง นอกจากนั้น ยังมีอาการท้องเสีย อาเจียน บางครั้งมีเลือดปน แท้งลูก ตลอดจนมีอาการซึม ไอ หายใจลำบาก เสียชีวิตกะทันหันและมีอัตราการตายสูงซึ่งอาการดังกล่าวอาจคล้ายกับโรคอหิวาต์สุกร (Classical swine fever: CSF) แต่เกิดจากเชื้อไวรัสเฉพาะที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงต้องมีการตรวจสอบโรคโดยผ่านการทดสอบทางห้องปฏิบัติการเพื่อให้ความชัดเจน

ทั้งนี้ เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่พิสูจน์ได้ว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อการป้องกันและควบคุมโรค สุกรที่หายป่วยจะเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิต และความรุนแรงของโรคทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบร้อยละ 100

นอกจากนั้น เชื้อไวรัสที่ก่อโรคนี้ยังมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์จากสุกรทำให้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสุกร อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ ธุรกิจการค้าเวชภัณฑ์สัตว์ และเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ด้วย รวมถึงการสูญเสียโอกาสในการส่งออกสุกรมีชีวิตและผลิตภัณฑ์สุกรไปจำหน่ายในต่างประเทศ โดยได้มีการคาดการณ์ว่าอาจมีมูลค่าความเสียหายโดยรวมไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท

ดังนั้น เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติอนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณในการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคเร่งด่วน จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติรายจ่ายประจำปีงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรและหมูป่าอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

จากสถานการณ์การเกิดโรคระบาดร้ายแรงในสุกรที่เกิดขึ้น ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากการสูญเสียสุกรที่ป่วยตายจากโรคเป็นจำนวนมาก และประชาชนผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากราคาเนื้อสุกรที่สูงขึ้น ส่งผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งกระทู้ถามและเสนอญัตติด่วนในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 23 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันที่ 20 มกราคม 2565 เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาปัญหาดังกล่าวและตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้คณะรัฐมนตรีรับไปพิจารณาดำเนินการ ตลอดจนมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและศึกษาแนวทางช่วยเหลืออันจะเป็นประโยชน์ให้กับประชาชนต่อไป

ภาพปก