Smart Farming: เกษตรอัจฉริยะ

Script Writer
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-03
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัจจุบันเทคโนโลยีได้ถูกนำมาใช้กับศาสตร์เกือบทุกแขนง ไม่เว้นแม้แต่ในภาคการเกษตรที่มีการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการทำเกษตรในเกือบทุกขั้นตอน จึงเป็นที่มาของคำว่า “Smart Farming” หรือ“เกษตรอัจฉริยะ” ที่ถูกใช้อย่างมากมายในหลายบริบท ตั้งแต่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีร่วมกับการเกษตร จนถึงการทำงานของเกษตรกรยุคใหม่ทั้งไทยและสากล ซึ่งในอนาคตการทำเกษตรรูปแบบนี้จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

การขับเคลื่อนภาคการเกษตรของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในโลกยุคดิจิทัล ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรจำเป็นต้องก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต ซึ่งจากนโยบาย Thailand 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ที่ครอบคลุมระยะเวลาปี พ.ศ. 2561-2580 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้มีแผนแม่บทด้านการเกษตร โดย “เกษตรอัจฉริยะ” ได้ถูกกำหนดไว้ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และตามแผนปฏิบัติการ เกษตรอัจฉริยะปี พ.ศ. 2565-2566 จะเป็นการขับเคลื่อนงานด้านเกษตรอัจฉริยะที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร ปรับรูปแบบการเกษตรในปัจจุบันให้มุ่งสู่เกษตร 4.0 โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้พัฒนา เพื่อนำไปสู่การเกษตรอัจฉริยะแห่งอนาคต มีเป้าหมายที่มุ่งเน้นให้เกิดการทำเกษตรแบบทำน้อยได้มาก ใช้ทรัพยากรในการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีการลดต้นทุน ลดการสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มากขึ้น นำเอาเครื่องจักรกลหรือเครื่องมือทันสมัย โดยเฉพาะการนำเกษตรดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มการผลิตและการแข่งขันของภาคการเกษตรไทย

ในตลาดโลก ประกอบกับขับเคลื่อนโครงการ “ยัง สมาร์ทฟาร์มเมอร์” (Young Smart Farmer) หรือ “เกษตรกรรุ่นใหม่” อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคเกษตรมีเกษตรกรที่เป็นเด็กรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น สนับสนุนให้เด็กจบใหม่กลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเองหรือสานต่ออาชีพเกษตรกรของครอบครัว 

ในขั้นต้นการทำ Smart Farming หรือ “เกษตรอัจฉริยะ” เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการเพื่อควบคุม ตรวจสอบ เก็บข้อมูล วิเคราะห์ หรือแก้ปัญหาการทำเกษตร ด้วยการสร้างระบบหรือใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ตรวจจับแสง ความชื้น อุณหภูมิ เพื่อช่วยให้การทำเกษตรง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ลดต้นทุน ตลอดจนช่วยเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาและเงินไปกับวิธีการทำเกษตรแบบเดิม ที่ผ่านมาได้มีตัวอย่าง ของการนำแนวคิดเกษตรนวัตกรรมมาปรับใช้กับภาคการเกษตร เช่น การใช้โดรนเพื่อสำรวจพื้นที่เพาะปลูก การใช้รถไถอัตโนมัติเพื่อลดภาระคนงาน การใช้เครื่องมือที่มีความแม่นยำสูงปรับสัดส่วนปุ๋ย ปริมาณการให้น้ำ และการได้รับแสง ตลอดจนการออกแบบระบบชลประทานอัตโนมัติ การใช้เทคโนโลยี GPS เพื่อตรวจสอบสภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ ลดความเสี่ยงจากการระบาดของศัตรูพืชและจากภัยธรรมชาติ การทำฟาร์มเลี้ยงไก่ที่มีเซนเซอร์วัดระดับความชื้น อุณหภูมิ ความเข้มของแสง และปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการเจริญเติบโต หรือโรงเรือนอัจฉริยะที่ติดตั้งระบบติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและควบคุมการพ่นละอองน้ำเพื่อช่วยลดอุณหภูมิ 

ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะปี พ.ศ. 2565-2566 จะช่วยกำหนดทิศทางการเกษตรอัจฉริยะและเป็นการวางรากฐานการเกษตรอัจฉริยะของประเทศอย่างเป็นระบบ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ สามารถนำกรอบข้อเสนอโครงการที่จัดทำไว้ภายใต้แผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะฉบับนี้ไปปรับใช้เป็นข้อเสนอโครงการในหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนการเกษตรอัจฉริยะของประเทศ โดยมุ่งเน้นทั้ง Smart Farmer และ Young Smart Farmer มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่อัจฉริยะให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในทุก ๆ จังหวัดของประเทศ และเข้าถึงทุกอำเภอภายใน 3 ปี เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติด้านการเกษตร

อย่างไรก็ตาม แม้การนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการกับการทำเกษตรในปัจจุบันจะเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังคงอยู่ในจุดเริ่มต้น เนื่องจากการทำ Smart Farming จำเป็นต้องมีการพัฒนาและได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวเกษตรกรเองที่จำต้องมีการเรียนรู้ พัฒนาตัวเอง และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงจากวิถีเดิมที่เคยทำมา ภาครัฐควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรที่จะเกิดขึ้น ทั้งการให้ความรู้ การพัฒนาพันธุ์ ปัจจัยการผลิต เครื่องจักรกล อุปกรณ์การเกษตร รวมถึงแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการประกอบอาชีพ การพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานให้มีความพร้อม เพื่อช่วยเป็นครูผู้ฝึกหรือเทรนเนอร์ (Trainer) ให้แก่เกษตรกร ในส่วนของภาคเอกชนควรร่วมสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยี กระบวนการผลิต การแปรรูปสินค้าและการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตร อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่นำเอานวัตกรรมการเกษตรหรือสิ่งใหม่ ๆ มาปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการแบบดั้งเดิมหรือต่อยอดในการประกอบอาชีพเกษตรกรต่อไป

ภาพปก