กฎหมายปุ๋ย

Script Writer
วิริยะ คล้ายแดง, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-03
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปุ๋ย คือ วัสดุที่มีธาตุอาหารพืชเป็นองค์ประกอบ หรือสิ่งมีชีวิตที่ก่อให้เกิดธาตุอาหารพืช เมื่อใส่ลงไปในดินแล้วจะปลดปล่อย หรือสังเคราะห์ธาตุอาหารที่จำเป็นให้แก่พืช แต่เดิมนั้น ปุ๋ยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์ และ ปุ๋ยเคมี

ปุ๋ยอินทรีย์ คือสารประกอบที่ได้จากสิ่งที่มีชีวิต ได้แก่ พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ผ่านกระบวนการผลิตทางธรรมชาติ ปุ๋ยอินทรีย์ส่วนใหญ่ใช้ในการปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดิน ทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี รากพืชจึงชอนไชไปหาธาตุอาหารได้ง่ายขึ้น เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ส่วนปุ๋ยเคมี คือสารประกอบอินทรีย์ที่ให้ธาตุอาหารพืช เป็นสารประกอบที่ผ่านกระบวนการผลิตทางเคมี เมื่อใส่ลงไปในดินที่มีความชื้นที่เหมาะสม ปุ๋ยเคมีจะละลายให้พืชดูดไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว เกษตรกรไทยรู้จักปุ๋ยอินทรีย์และใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาปรับปรุงบำรุงดินเพื่อให้พืชเจริญเติบโตออกผลผลิตเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับปุ๋ยเคมีนั้น เริ่มนำมาใช้เมื่อ 70 กว่าปีที่ผ่านมา และเป็นที่นิยมแพร่หลาย เพราะปุ๋ยเคมีใช้งานได้สะดวกและให้ธาตุอาหารแก่พืชที่มากกว่าปุ๋ยอินทรีย์ จนกลายเป็นปุ๋ยที่มีการใช้เป็นจำนวนมากทั้งที่เหมาะสมและเกินความจำเป็น

เมื่อเกษตรกรมีความจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเป็นอาหารพืชหรือบำรุงดินเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น โดยปุ๋ยเคมีเป็นปุ๋ยที่นิยมของเกษตรกรอย่างมาก ดังนั้น จึงมีการสั่งปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศมาจำหน่ายและผสมเพื่อจำหน่ายแก่เกษตรกรในปริมาณมากขึ้นทุกปี แต่ปรากฏว่าปุ๋ยเคมีที่จำหน่ายในท้องตลาดนั้น มักจะมีปุ๋ยเคมีปลอม ปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน ปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ ทั้งน้ำหนักปุ๋ยเคมีก็น้อยกว่าที่แจ้งไว้ในฉลาก ปริมาณธาตุอาหารพืชไม่ถูกต้องครบถ้วนตามข้อความที่แจ้งไว้ในฉลาก เป็นการเอาเปรียบแก่เกษตรกรและหวังผลกำไรเกินควร โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายแก่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 เพื่อควบคุมการผลิต การจำหน่าย และการนำปุ๋ยเคมีเข้ามาในประเทศให้เป็นไปโดยสุจริต รวมทั้งควบคุมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วย

พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 มีบทบัญญัติทั้งสิ้น 9 หมวด 75 มาตรา มีสาระสำคัญ คือ 
1) กำหนดลักษณะและประเภทปุ๋ยรวมถึงสารประกอบในปุ๋ย 

2) กำหนดให้มีคณะกรรมการปุ๋ยจากตัวแทนทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งมีอำนาจหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องหลักเกณฑ์การผลิตและการจำหน่ายปุ๋ยเคมี 

3) กำหนดหลักเกณฑ์การประกาศ การขึ้นทะเบียน และการโฆษณาเกี่ยวกับปุ๋ยเคมี 

4) กำหนดการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับปุ๋ยเคมี 

5) กำหนดหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตเกี่ยวกับปุ๋ยเคมี 

6) กำหนดการควบคุมปุ๋ยเคมี 

7) กำหนดการพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต 

8) กำหนดหลักเกณฑ์การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้า 

9) บทกำหนดโทษ และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเกี่ยวกับปุ๋ยเคมีและอัตราค่าวิเคราะห์เกี่ยวกับปุ๋ยเคมี  

กฎหมายฉบับนี้จึงมีประโยชน์อย่างมากในการควบคุมดูแลการผลิตและการจำหน่ายปุ๋ยเคมี แต่เมื่อเวลาผ่านไปวิทยาการทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพได้เจริญก้าวหน้า มีการส่งเสริมให้ใช้อินทรียวัตถุตลอดจนนำเทคโนโลยีทางชีวภาพที่เรียกกันว่า ปุ๋ยชีวภาพ เข้ามาใช้เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงบำรุงดินและเพิ่มคุณค่าของธาตุอาหารพืชมากขึ้น เพราะมีราคาที่ถูกกว่าปุ๋ยเคมีและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้รับความสนใจจากเกษตรกรอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวใช้บังคับมุ่งควบคุมปุ๋ยเคมีเป็นหลัก โดยมิได้มีบทบัญญัติควบคุมปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์ที่ชัดเจน เป็นเหตุให้มีปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ได้คุณภาพออกสู่ท้องตลาด มีการอวดอ้างสรรพคุณของปุ๋ยชีวภาพเกินความเป็นจริง ทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหายและเกิดความสับสนในการเลือกใช้ปุ๋ยแต่ละชนิด ประกอบกับอัตราโทษที่กำหนดไว้เดิมไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ในปี 2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และประกาศใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 

โดยพระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 มีสาระสำคัญ คือกำหนดขอบเขตความหมายของปุ๋ยแต่ละชนิดให้ชัดเจนขึ้น กำหนดชื่อธาตุอาหารหลักและอาหารรองให้ถูกต้อง ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมชนิดของปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์เพื่อประโยชน์แก่การควบคุมการผลิตเป็นการค้าและให้มีการบังคับได้ตามกฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องคณะกรรมการปุ๋ยเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติการควบคุมปุ๋ยและบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้ปุ๋ยที่เปลี่ยนแปลงไป

ปัจจุบันเกษตรกรไทยยังคงใช้ปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่มีอัตราเพิ่มมากขึ้นสูงสุด ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการนำเข้าปุ๋ยเคมีประมาณ 5 ล้านตัน มีมูลค่ามากถึง 50,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นปัจจัยในการผลิตทางการเกษตรที่มีรายได้มากถึง 1 ล้านล้านบาท นับว่าปุ๋ยและอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีความสำคัญต่อภาคการเกษตรและเศรษฐกิจอย่างมาก โดยมีพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เป็นกฎหมายที่ควบคุมดูแลการผลิตและการจัดจำหน่ายปุ๋ยทุกชนิดให้ได้มาตรฐาน เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของเกษตรกรและภาคการเกษตร

ภาพปก