การใช้โดรนในด้านการเกษตร

Script Writer
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-03
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

โดรน (Drone) หรืออากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) เป็นอากาศยานที่ไม่มีคนขับหรือนักบินประจำการอยู่บนเครื่อง แต่สามารถควบคุมและสั่งการบินด้วยระบบอัตโนมัติและแบบกึ่งอัตโนมัติ ซึ่งในระยะแรกได้มีการพัฒนาโดรนเพื่อใช้ประโยชน์ในภารกิจด้านการทหารเป็นหลัก ปัจจุบันมีการนำโดรนมาใช้ประโยชน์ในกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การถ่ายภาพจากมุมสูง การสำรวจข้อมูลทางภูมิศาสตร์ การรายงานการจราจร การขนส่งสินค้า การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และการใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร เป็นต้น

สำหรับการใช้โดรนในด้านการเกษตรนั้น ได้นำโดรนมาใช้เป็นเครื่องมือในการพ่นปุ๋ยหรือสารเคมีทางการเกษตร สารกำจัดศัตรูพืช หรือนำโดรนมาใช้เพื่อหว่านเมล็ดพันธุ์ หว่านปุ๋ยแบบเม็ด รวมถึงการตรวจสอบการเจริญเติบโตของพืช การตรวจสอบหาโรคพืช ศัตรูพืช การวัดปริมาณความหนาแน่นของพืช และการทำแผนที่เพื่อการเกษตร โดยการใช้โดรนเพื่อช่วยในด้านการเกษตรจะทำให้เกษตรกรประหยัดแรงงานและสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งประหยัดเวลามากกว่าการใช้แรงงานคน โดยเฉพาะการใช้โดรนเพื่อพ่นสารชีวภัณฑ์หรือสารอินทรีย์ให้ทันในช่วงเวลาขณะที่ปากใบพืชเปิด ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นโดรนยังมีความสามารถจดจำตำแหน่งที่ฉีดพ่นครั้งก่อนด้วย อีกทั้งการใช้โดรนยังทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้สะดวกทั่วถึงมากขึ้น เช่น การพ่นปุ๋ยในพื้นที่ปลูกที่มีลักษณะลาดชัน ตลอดจนทำให้เกษตรกรมีความปลอดภัยจากการลดการสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรโดยตรง

จากตัวอย่างการศึกษาวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนเพื่อการทำเกษตรอินทรีย์ โดยกรมวิชาการเกษตร ได้มีการพัฒนาโดรนแบบมัตติโรเตอร์ 4 ใบพัด ซึ่งบรรจุน้ำหนักสารชีวภัณฑ์ได้ครั้งละ 10 ลิตร พบว่าการใช้โดรนสามารถฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ได้ 3-5 นาทีต่อไร่ หรือ 100 ไร่ต่อวัน ขณะที่เครื่องพ่นแรงดันสูงแบบสะพายหลังใช้เวลา 30 นาทีต่อไร่ ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานระหว่างโดรนกับเครื่องพ่นแรงดันสูงแบบสะพายหลังแล้ว พบว่าโดรนสามารถทำงานได้เร็วกว่าเครื่องพ่นแรงดันสูงแบบสะพายหลัง 6-10 เท่า

อย่างไรก็ตาม การนำโดรนมาใช้ในด้านการเกษตรอย่างแพร่หลายอาจยังมีข้อจำกัด เนื่องจากโดรนและชุดอุปกรณ์มีราคาค่อนข้างสูง ผู้ควบคุมโดรนต้องมีทักษะความชำนาญและประสบการณ์ในการควบคุมเพื่อให้สามารถใช้โดรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโดรนและชุดอุปกรณ์ ตลอดจนไม่เป็นอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น นอกจากนั้น การใช้โดรนในด้านการเกษตรหรือการให้บริการโดรนเพื่อรับจ้างในภาคเกษตรจำเป็นต้องมีความรู้และปฏิบัติตามกฎหมายด้วย โดยการครอบครองและการใช้โดรนจะต้องมีการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง รวมถึงในการบังคับหรือปล่อยโดรนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งก่อนทำการบินและระหว่างทำการบินตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558 เช่น ต้องตรวจสอบว่าอากาศยานอยู่ในสภาพที่ทำการบินได้อย่างปลอดภัยก่อนทำการบิน และระหว่างการบินต้องสามารถมองเห็นอากาศยานได้ตลอดเวลาที่ทำการบิน ห้ามทำการบังคับอากาศยานโดยอาศัยชุดกล้องบนอากาศยานหรืออุปกรณ์อื่นที่มีลักษณะใกล้เคียง ต้องทำการบินในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ซึ่งสามารถมองเห็นอากาศยานได้อย่างชัดเจน ห้ามทำการบินภายในระยะ 9 กิโลเมตรจากสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานโดยไม่ได้รับอนุญาต ห้ามทำการบินโดยใช้ความสูงเกิน 90 เมตรเหนือพื้นดิน และห้ามทำการบินโดยมีระยะห่างในแนวราบกับบุคคล ยานพาหนะ สิ่งก่อสร้าง หรืออาคารน้อยกว่า 30 เมตร เป็นต้น

ปัจจุบันมีเกษตรกรบางรายได้ลงทุนซื้อโดรนเป็นของตนเอง เพื่อใช้ทดแทนแรงงานในการฉีดพ่นสารเคมีทางการเกษตร ฮอร์โมนพืชหรือสารชีวภัณฑ์ ขณะที่เกษตรกรบางรายที่ยังมีเงินทุนไม่เพียงพอหรือมีพื้นที่ทำการเกษตรไม่มากได้มีการว่าจ้างผู้ให้บริการโดรน ซึ่งการใช้โดรนในด้านการเกษตรจะส่งผลให้เกษตรกรประหยัดแรงงานและเวลา รวมทั้งช่วยให้เกษตรกรสามารถทำงานได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น ดังนั้น หากมีการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพและราคาลดลง ประกอบกับการส่งเสริมความรู้ในด้านเทคนิคและด้านกฎหมาย จะสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและปรับเปลี่ยนการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น

ภาพปก