พระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2551

Script Writer
วิริยะ คล้ายแดง, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-03
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

คำว่า “การพัฒนาที่ดิน” โดยทั่วไปหมายถึง การปฏิบัติการที่จะทำให้การใช้ที่ดินบังเกิดผลดี หรือมีประโยชน์ต่อประชากรและประเทศชาติโดยส่วนรวม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ใช้ทรัพยากรที่ดินเป็นพื้นฐานหลักในการประกอบอาชีพ ซึ่งการพัฒนาที่ดินทางเกษตรกรรมจึงหมายถึง การปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้น 

ในปี 2506 ได้มีการจัดตั้งกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ให้เป็นหน่วยงานหลักในการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้น ต่อมาในปี 2515 กรมพัฒนาที่ดินได้ย้ายมาสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยระหว่างนั้นได้จัดเตรียมกฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประกอบด้วยการโอนอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับการสำรวจ จำแนก และทำสำมะโนที่ดิน เพื่อให้ทราบถึงความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติและความเหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การวางแผนการใช้ที่ดิน การกำหนดบริเวณการใช้ที่ดินและการกำหนดมาตรการเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำมาเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดิน รวมถึงการกำหนดวิธีการในการนำผลงานทางวิชาการด้านการพัฒนาที่ดิน เช่น มาตรการเพื่อการปรับปรุงดินและที่ดิน และมาตรการเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำไปใช้ในการปฏิบัติการให้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรมของประเทศอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2526 เพื่อเป็นกฎหมายพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยมีกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบหน้าที่การพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กฎหมายฉบับนี้ มีสาระสำคัญ คือ 1) กำหนดนิยาม การพัฒนาที่ดิน มีหมายความว่า การกระทำใด ๆ ต่อดินหรือที่ดินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของดินหรือที่ดิน หรือเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้น และหมายความรวมถึงการปรับปรุงดินหรือที่ดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติหรือขาดความอุดมสมบูรณ์เพราะการใช้ประโยชน์ และการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อรักษาดุลธรรมชาติหรือเพื่อความเหมาะสมในการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2) กำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ดิน และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินสามคน เพื่อทำหน้าที่พิจารณากำหนดการจำแนกประเภทที่ดิน การวางแผนการใช้ที่ดิน การพัฒนาที่ดิน ประกาศกำหนดเขตสำรวจที่ดิน กำหนดมาตรการเพื่อการปรับปรุงดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ และพิจารณาวางระเบียบหลักเกณฑ์คำขอให้วิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดิน 3) กำหนดให้กรมพัฒนาที่ดินมีหน้าที่สำรวจและวิเคราะห์ตรวจสอบดินหรือที่ดินเพื่อให้ทราบถึงความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติและความเหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์ที่ดิน จำแนกที่ดิน การพัฒนาที่ดิน และทำสำมะโนที่ดิน

ต่อมาในปี 2551 ช่วงเวลานั้นได้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของดินเพราะไม่มีการอนุรักษ์ดินและน้ำ ทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของดินก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคม ในขณะที่พระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2526 ไม่มีบทบัญญัติให้หน่วยงานของรัฐสามารถเข้าไปดำเนินการป้องกันรักษาสภาพพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินถล่มและเกิดการชะล้างพังทลายของดินอย่างรุนแรง และเพื่อให้การใช้ที่ดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้ยกเลิกพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2526 และประกาศใช้พระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2551

พระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2551 มีบทบัญญัติทั้งสิ้น 25 มาตรา แม้ว่าบทบัญญัติทั้งหมดในพระราชบัญญัติฉบับนี้มีพื้นฐานมาจากพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2526 เช่น กำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน และกำหนดให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักในการจำแนกที่ดิน การพัฒนาที่ดิน และทำสำมะโนที่ดิน เป็นต้น แต่มีอยู่หลายเรื่องที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้แก้ไขเพิ่มเติม ได้แก่ 1) ปรับปรุงบทนิยามความหมายให้ถูกต้องเหมาะสม 2) เพิ่มจำนวนคณะกรรมการพัฒนาที่ดินในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ 3) กำหนดมาตรการป้องกันรักษาสภาพพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินถล่มและเกิดการชะล้างพังทลายของดิน 4) กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของดินตามธรรมชาติและความเหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์ที่ดิน 5) กำหนดการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงดินหรือที่ดิน การวิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดิน 6) กำหนดมาตรการห้ามกระทำการใด ๆ รวมถึงการทำให้ที่ดินเกิดการปนเปื้อนของสารเคมีหรือวัตถุอื่นใด

ประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 174 ล้านไร่ แต่ทรัพยากรดินส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ในระดับต่ำ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรต่ำและขาดคุณภาพ ดังนั้น การพัฒนาที่ดินด้วยการปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินจึงเป็นพื้นฐานแรกเริ่มที่สำคัญยิ่งในการทำเกษตรกรรม พระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2551 จะเป็นแนวทางและมาตรการที่มีประโยชน์ต่อการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเกษตรกรรม กำหนดหน่วยงานและองค์กรที่ทำหน้าที่พัฒนาที่ดิน รวมถึงการอนุรักษ์ดินและน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนตลอดไป
 

ภาพปก