โรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก

Script Writer
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-05
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

โรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟูเอนซ่าเอ (Influenaza A virus) โดยสัตว์ปีกที่ได้รับเชื้อจะมีอาการซึม กินอาหารลดลง มีอาการทางระบบประสาท หงอน เหนียงมีสีคล้ำ และอาจตายโดยไม่แสดงอาการ เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อได้ในสัตว์ปีก และในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู พังพอน หมู แมว เสือ ม้า รวมถึงสามารถติดต่อสู่คนหากสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ซึ่งแพร่เชื้อไวรัสผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย หรือมูลสัตว์ที่อาจติดมากับมือ และเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุจมูกและตา ทำให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ ไอ อ่อนเพลีย ผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตได้ 

เชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์หลักที่ก่อโรครุนแรงในภูมิภาคเอเชียเป็นชนิดสายพันธุ์ H5N1 พบการระบาดครั้งแรกที่ฮ่องกงเมื่อปี 2540 ต่อมาในปี 2546 ได้เกิดการระบาดที่เกาหลีใต้ และในปี 2547 ได้มีการระบาดในหลายประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม ไต้หวัน กัมพูชา ลาว และอินโดนีเซีย รวมถึงประเทศไทย โดยมีรายงานพบโรคไข้หวัดนกชนิดสายพันธุ์ H5N1 ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547 ที่ฟาร์มไก่ไข่ จังหวัดสุพรรณบุรี  จากนั้นระหว่างปี 2547-2551 ได้เกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกในประเทศไทยอีกหลายรอบ 

การระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกขณะนั้น ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตไก่ในประเทศไทยเป็นอย่างมากรวมเป็นจำนวนเงินกว่า 100,700 ล้านบาท โดยส่งผลกระทบเชื่อมโยงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ธุรกิจอาหารสัตว์ การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ การผลิตลูกไก่ ผู้ประกอบการโรงงานชำแหละ และการส่งออก โดยหลายประเทศคู่ค้าได้ระงับการนำเข้า เกษตรกรต้องสูญเสียรายได้จากการทำลายสัตว์และพักการเลี้ยงเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น รวมถึงบางรายที่ต้องหยุดกิจการ โดยในปี 2547-2551 ได้มีการทำลายสัตว์ปีกกว่า 65 ล้านตัว และรัฐจ่ายเงินค่าชดใช้กว่า 5,452 ล้านบาท นอกจากนั้น โรคไข้หวัดนกยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นต่อการบริโภคสัตว์ปีก อีกทั้งส่งผลกระทบต่อด้านสาธารณสุขทำให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ตลอดจนก่อให้เกิดความกังวลหากเชื้อไวรัสชนิดรุนแรงเกิดการแลกเปลี่ยนสายพันธุกรรมกับเชื้อไข้หวัดที่สามารถติดต่อในคนได้ จะนำไปสู่การระบาดของโรคระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรงในคนหากเกิดการระบาดอาจมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ การระบาดของโรคไข้หวัดนกมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับปัจจัยหลายด้านด้วยกัน ทั้งในด้านปศุสัตว์ ด้านสาธารณสุข การดำรงชีวิตของสัตว์ปีกตามธรรมชาติ รวมถึงวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น เช่น การเลี้ยงสัตว์ปีกไว้เป็นอาหาร การเลี้ยงสัตว์ปีกสวยงาม การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ตลอดจนการระบาดระหว่างประเทศ ดังนั้น การป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคไข้หวัดนก จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในการบูรณาการในหลายด้าน จึงได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก (พ.ศ. 2548-2550) และแผนยุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ (พ.ศ. 2548-2550) เพื่อเป็นแผนแม่บทในการดำเนินการป้องกัน ควบคุม และเตรียมรับสถานการณ์การระบาด เป็นผลทำให้เกิดการดำเนินการที่สำคัญ เช่น การจัดการระบบปศุสัตว์ที่ปลอดโรคทั้งในสัตว์ปีกเศรษฐกิจและสัตว์ปีกพื้นเมือง ไก่ชน เป็ดไล่ทุ่งและควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกอย่างเคร่งครัด การเฝ้าระวังและควบคุมโรคในสัตว์และคนเมื่อเกิดการระบาดของโรคได้อย่างรวดเร็ว การเตรียมความพร้อมในด้านบริการทางการแพทย์ การจัดเตรียมเวชภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์ที่จำเป็นได้ตามเป้าหมาย การเริ่มพัฒนาศักยภาพขององค์กรและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโรคไข้หวัดนก การสร้างและจัดการองค์ความรู้เรื่องไข้หวัดนก ตลอดจนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ชุมชนและธุรกิจอย่างแพร่หลาย เป็นต้น ต่อมาได้มีการดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ป้องกัน แก้ไข และเตรียมความพร้อมรับปัญหาโรคไข้หวัดนกและการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551-2553) เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนกและการเตรียมพร้อมรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง 

แม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา นับเป็นระยะเวลานานกว่า 13 ปี แต่ยังคงมีรายงานพบการระบาดในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก กรมปศุสัตว์จึงได้มีการติดตามสถานการณ์และดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกมาอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดแผนการปฏิบัติงานกิจกรรมป้องกัน แก้ไข และเตรียมความพร้อมรับปัญหาไข้หวัดนกเป็นประจำในแต่ละปี เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ภาพปก