แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

Script Writer
ปรียวรรณ สุวรรณสูนย์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-10
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) เกิดขึ้นจากความริเริ่มของรัฐบาลในการตระหนักถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอันสืบเนื่องมาจากการประกอบธุรกิจ รัฐบาลจึงมีความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าวให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเชื่อมโยงนโยบาย กฎหมาย กฎ ระเบียบ และมาตรการต่าง ๆ ในประเทศ พันธกรณีระหว่างประเทศกับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ทั้งในมิติการกำหนดหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองประชาชน (protect) กำหนดความคาดหวังต่อภาคธุรกิจให้ประกอบธุรกิจด้วยความเคารพสิทธิมนุษยชน (respect) และกำหนดหน้าที่ของภาครัฐและภาคธุรกิจในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการประกอบธุรกิจ (remedy) ซึ่งเป็นสามหลักการสำคัญตามกรอบแนวทางหลักการ UNGPs ดังกล่าว

กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เนื่องจากมีความรับผิดชอบงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ รวมถึงการดำเนินงานตามสนธิสัญญาและกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และกลไก UPR อันเป็นกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ สำหรับรายละเอียดของแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562–2565) ได้พิจารณาคัดเลือกประเด็นสำคัญหลักเพื่อบรรจุอยู่ในแผน 4 ประเด็น คือ 1) ด้านแรงงาน 2) ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 3) ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ 4) ด้านการลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ เนื่องจากเป็นประเด็นที่ได้รับการสะท้อนในหลายพื้นที่ โดยมีลักษณะ รูปแบบ ปัญหา และกิจกรรมที่หลากหลาย เกี่ยวข้องกับบุคคล ชุมชน และสังคมในวงกว้าง ทั้งยังมีความซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับมิติทั้งภายในและภายนอกประเทศ จึงเป็นประเด็นที่ควรได้รับการแก้ไขในลำดับแรก ดังนี้

1. ด้านแรงงาน เน้นการคุ้มครองสิทธิของแรงงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ให้มีการปรับปรุงกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความคุ้มครองและสวัสดิการของแรงงาน และสอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งแรงงานในประเทศและแรงงานต่างด้าว สร้างกลไกป้องกันไม่ให้เกิดการค้ามนุษย์ในด้านแรงงานทุกช่องทาง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประมง กำหนดให้การปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติเพราะถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ผู้พ้นโทษ และผู้สูงอายุให้เข้าสู่การมีอาชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและการทำงาน ตลอดจนการได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมและมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม


2. ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้ยกระดับศักยภาพการแข่งขัน และการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมความเสมอภาคและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและการบริการของภาครัฐอย่างเท่าเทียม ส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลและขจัดการทุจริตและระบบอุปถัมภ์ สร้างมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและภัยพิบัติ ดูแลประชาชนให้สามารถมีที่ดินทำกินและเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม ส่วนชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย สามารถเข้าถึงบริการของรัฐทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล และโอกาสในการทำงานอย่างเท่าเทียม มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระหว่างการดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้มีกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้รวมถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างเป็นระบบ มีคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแล รวมทั้งมาตรการรองรับหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ


3. ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้สร้างกลไกการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงมาตรการคุ้มครองพยานโดยจะต้องเก็บรักษาความลับข้อมูลนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ข้อมูลของผู้ร้องเรียน และข้อมูลเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองพยานให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ได้มีการเสนอให้ประชุมหารือร่วมกับ
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นระยะ ๆ เพื่อปรับมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้มีความเหมาะสม ตลอดจนการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ นโยบาย และมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณี และมาตรฐานระหว่างประเทศ


4. ด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ ได้เสนอให้ออกกฎหมาย หรือนโยบายที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งสร้างกลไกตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนนอกอาณาเขต เพื่อให้เกิดการปกป้อง คุ้มครอง เยียวยา และเกิดความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (cross border) ซึ่งผู้ถูกละเมิดสามารถใช้กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยในการคุ้มครองและเยียวยาได้ กำหนดเงื่อนไขให้รัฐบาลพิจารณาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนก่อนการลงนามในข้อตกลง/สนธิสัญญาด้านการค้า/การลงทุนระหว่างประเทศ  ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน และผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ในโครงการก่อนตัดสินใจดำเนินโครงการ

ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชีย และเป็นหนึ่งใน 30 ประเทศของโลกที่ได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้กับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ และประชาสังคมดำเนินการส่งเสริม คุ้มครอง ป้องกัน เยียวยา และแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นผลจากการทำธุรกิจ ตลอดจนส่งเสริมการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ จึงเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในประเทศเพราะมีความเชื่อมั่นในด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในสังคมโลก แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์และความตั้งใจในการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจมิให้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อประชาชนอีกด้วย

ภาพปก