ห้องสมุดในจักรวาลนฤมิต

Script Writer
อุดมศักดิ์ โกสิทธิ์, บรรณารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-10
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

Metaverse แปลเป็นคำไทยว่า “จักรวาลนฤมิต” โดยราชบัณฑิตยสภามีมติบัญญัติคำว่า “จักรวาลนฤมิต” ขึ้น เพื่อใช้แทนหรือเขียนทับศัพท์ว่า “เมตาเวิร์ส” โดยในประเทศไทยเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากบริษัทชั้นนำของโลกสังคมออนไลน์ คือ เฟซบุ๊ก (Facebook) ที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ในฐานะประธานกรรมการบริหาร (CEO) ประกาศรีแบรนด์ใหม่เป็นเมตา (Meta)เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นจึงเกิดกระแสเปลี่ยนผ่านทางด้านเทคโนโลยีใหม่กับหลาย ๆ วงการ เช่น ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การแพทย์ การลงทุน อีคอมเมิร์ซ การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ เกม บันเทิง การศึกษา เป็นต้น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะมากระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลของตลาดโลกใหม่ขึ้นโดยใช้สกุลเงินดิจิทัล

จักรวาลนฤมิต คือ ชุมชนโลกเสมือนที่ถูกสร้างมาจากการนำเทคโนโลยีความจริงเสมือน VR (Virtual Reality) และเทคโนโลยีความจริงเสริม AR (Augmented Reality) มาต่อยอดในการสร้างโลกเสมือนขึ้นมาใหม่ โดยการเข้าถึงผ่านอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี 5G เพื่อเข้าสู่โลกจักรวาลนฤมิตและเมื่อเข้าไปสู่จักรวาลนฤมิต ตัวเราจะสามารถสร้างอวาตาร์ (Avatar) ซึ่งเป็นรูปแทนตัวผู้ใช้โลกเสมือนที่อาจเป็นสองมิติหรือสามมิติก็ได้ เพื่อเข้าใช้งานในจักรวาลนฤมิตแบบ 360 องศา สามารถที่จะรับรู้ได้ทั้งการมองเห็น ได้ยินเสียง การสัมผัส (ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อสู่จักรวาลนฤมิต) 

นอกจากจักรวาลนฤมิตจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลของตลาดโลกและสร้างกระแสเปลี่ยนผ่านทางด้านเทคโนโลยีใหม่กับหลาย ๆ วงการแล้ว จักรวาลนฤมิตยังสามารถเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีประโยชน์ ด้วยการเป็นช่องทางการเรียนรู้เพื่อสร้างรายได้ เกิดอาชีพใหม่ ๆ ตอบโจทย์ชีวิตแบบ Next Normal (คือ การที่สังคมมีวิถีชีวิตที่ปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ) ทำให้ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้ 

ห้องสมุดถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในจักรวาลนฤมิต เป็นแหล่งการเรียนรู้สำหรับให้บริการสารสนเทศเพื่อพัฒนาให้มนุษย์มีความชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาศักยภาพทางด้านการศึกษาจากสภาพแวดล้อมที่เสมือนจริงแบบ 360 องศา ทำให้เกิดบรรยากาศที่เหมาะสมกับการศึกษาหาความรู้จากสารสนเทศได้อย่างที่ผู้ใช้บริการต้องการ โดยการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมตามความต้องการของผู้เรียนรู้แต่ละบุคคล อาทิ การไปอ่านหนังสือบนยอดเขาเอเวอเรสต์ ในป่าหิมพานต์ หรือบนเรือกลางทะเล และสามารถเดินทางสู่ห้องสมุดได้ทั่วโลกโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปด้วยตนเองเป็นการเข้าถึงสารสนเทศได้อย่างไม่มีข้อจำกัดช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศได้ ทั้งนี้ การพัฒนาห้องสมุดในจักรวาลนฤมิตยังคงต้องมีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ

จะเห็นได้ว่าจักรวาลนฤมิตมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยในทุก ๆ วงการของโลกแห่งอนาคต ทั้งนี้ ในเรื่องของการศึกษา การเรียนรู้ การพัฒนาความชาญฉลาดของมนุษย์นั้น ห้องสมุดในฐานะที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ประเภทหนึ่ง มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการให้บริการสารสนเทศ รวมถึงส่งเสริมการศึกษาของมนุษย์ในโลกอนาคต การพัฒนาห้องสมุดจึงต้องมีความเป็นพลวัต ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของผู้ที่จะบริหารจัดการห้องสมุดแห่งอนาคต หรือ “บรรณารักษ์” ก็ต้องมีการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งพร้อมที่จะปรับตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน
 

ภาพปก