นวัตกรท้องถิ่น

Script Writer
วิลาสิณี ฉายรัตน์ตระกูล, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-09
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

นวัตกรรม (Innovation) ได้รับความสำคัญในฐานะเครื่องมือในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ นับตั้งแต่ปี 2559 รัฐบาลไทยประกาศแนวคิดประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) เป็นแนวทางการขับเคลื่อนประเทศที่เน้นการสร้างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ในปีเดียวกันได้มีการปรับเปลี่ยนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีพันธกิจสำคัญข้อหนึ่งในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหลายแห่งได้มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์และบริหารจัดการนวัตกรรมในสาขาวิชาต่าง ๆ หลายหลักสูตร 

จามรี พระสุนิล (2563) ให้คำจำกัดความของคำว่า “นวัตกรท้องถิ่น” ไว้ว่าหมายถึง ผู้นำชุมชน/แกนนำชุมชนในการพัฒนาและริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อใช้กระบวนการหรือวิธีการส่งเสริมให้เกิดการพึ่งตนเองอย่างมีสุขและภาวะระดับบุคคลและครอบครัวอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี และ ภานนท์ คุ้มสุภา (2562) ให้คำจำกัดความของคำว่า “นวัตกรท้องถิ่น” ไว้ว่าหมายถึง คนท้องถิ่นที่เป็นผู้สร้างนวัตกรรมสำหรับแก้ปัญหาให้กับชุมชนตนเอง นอกจากนี้ ยังได้กำหนดปัจจัยที่เป็นประโยชน์ต่อนวัตกรท้องถิ่นในการทำความเข้าใจปัญหาของชุมชนและปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อนวัตกรท้องถิ่นในการแพร่กระจายนวัตกรรมไปสู่ชุมชน กล่าวคือ 

1. ปัจจัยที่เป็นประโยชน์ต่อนวัตกรท้องถิ่นในการทำความเข้าใจปัญหาของชุมชน ได้แก่

  • 1) ความสะดวกในการเข้าถึงชุมชน
  • 2) การเข้าใจวัฒนธรรม และ
  • 3) การมีส่วนร่วมในสถานการณ์ที่เป็นปัญหา ซึ่งจะทำให้นวัตกรท้องถิ่นเข้าถึงข้อมูลและเข้าใจปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง เมื่อเปรียบเทียบกับคนภายนอกชุมชน  

2. ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อนวัตกรท้องถิ่นในการแพร่กระจายนวัตกรรมไปสู่ชุมชน ได้แก่

  • 1) การขาดความน่าเชื่อถือ เพราะไม่มีโอกาสแสดงความชำนาญให้คนในชุมชนยอมรับเนื่องจากมีส่วนร่วมในชุมชนน้อย
  • 2) ไม่มีสถานภาพที่สูงกว่าและมีวัยวุฒิที่น้อยกว่าสมาชิกในชุมชน  

ทั้งปัจจัยที่เป็นประโยชน์และเป็นอุปสรรคต่อนวัตกรท้องถิ่นแสดงให้เห็นว่าผู้ที่เหมาะสมจะเป็นนวัตกรท้องถิ่นควรเป็นคนในชุมชนที่สามารถเข้าถึง เข้าใจ และรับรู้ถึงปัญหาที่มีอยู่ รวมถึงมีศักยภาพในการผลิตนวัตกรท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนให้ลุล่วงไปได้อย่างรอบด้านและยั่งยืน

โดยหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้ดำเนินการที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแก้ปัญหาชุมชน อาทิ ปี 2563 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่นได้จัดโครงการส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน เพื่อส่งเสริมทักษะด้านนวัตกรรมและกระบวนการคิดเชิงออกแบบที่จะช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรไทย และ ปี 2565 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้จัดโครงการชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างนวัตกรรมท้องถิ่นที่มีทักษะการรับและการปรับใช้นวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบท สามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้อื่นได้ รวมทั้งสามารถเป็นแกนนำในการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อหนุนให้ชุมชนมีพื้นที่และโอกาสเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่การบ่มเพาะนวัตกรท้องถิ่นให้เกิดขึ้นเท่านั้น กระแสการใช้นวัตกรรมแก้ไขปัญหาท้องถิ่นยังสอดคล้องกับกระแสการคืนถิ่นของคนรุ่นใหม่อีกด้วย เนื่องจากปัญหาการกระจุกตัวในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ และค่าครองชีพสูงที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ในขณะที่ท้องถิ่นขาดแคลนบุคลากรที่จะขับเคลื่อนชุมชนเพราะมีเพียงผู้สูงอายุและเด็กจึงนำไปสู่การส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เดินทางกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเองแทนการใช้ชีวิตในเมือง
 

ภาพปก