โทษปรับเป็นพินัย

Script Writer
ศรันยา สีมา, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-04
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

กฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐที่ใช้ในการควบคุมความประพฤติของคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุข เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม การตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับที่ผ่านมามักกำหนดให้ผู้กระทำการฝ่าฝืนสิ่งที่กฎหมายกำหนดต้องรับโทษทางอาญา เนื่องจากเชื่อว่าโทษทางอาญาทำให้ประชาชนเกรงกลัวไม่กล้ากระทำความผิด และสามารถควบคุมพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมได้ทุกกรณี แต่การกำหนดโทษทางอาญาในบางกรณีไม่เหมาะสมกับประเภทของอาชญากรรม ทำให้เกิดภาวะกฎหมายอาญาเฟ้อ (over-criminalization) กฎหมายลดความศักดิ์สิทธิ์ลง อย่างกรณีผู้กระทำความผิดอาญาที่เป็นความผิดเล็กน้อยต้องถูกดำเนินคดีและอาจถูกลงโทษจำคุก หรือบางกรณีถูกลงโทษปรับ แต่หากผู้กระทำความผิดนั้นมีฐานะยากจนไม่สามารถชำระค่าปรับได้ ก็จะถูกนำตัวไปกักขังแทนค่าปรับในเรือนจำ กลายเป็นผู้มีประวัติอาชญากรติดตัว และทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นเรือนจำอีกด้วย

จากปัญหาดังกล่าวจึงเกิดแนวความคิดว่า ควรต้องมีการปรับปรุงกฎหมายในการกำหนดโทษอาญาหรือมาตรการลงโทษให้เหมาะสมกับสภาพความร้ายแรงของการกระทำความผิด เพื่อไม่ให้บุคคลต้องรับโทษเกินสมควร โดยให้มีการใช้โทษทางอาญาเท่าที่จำเป็นเฉพาะกับความผิดที่เป็นความผิดอาญาร้ายแรงเท่านั้น ซึ่งหลักการนี้ได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 ว่า “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง” ดังนั้น จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ขึ้นใช้บังคับ เพื่อเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาและโทษปรับทางปกครองมาเป็น “โทษปรับเป็นพินัย” ซึ่งไม่มีสภาพบังคับเป็นโทษอาญา และลดทอนโทษอาญาที่ไม่จำเป็น รวมทั้งปรับปรุงระบบโทษปรับให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับหลักการสากล และบริบทของสังคมไทย    

พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มีสาระสำคัญ คือ

(1) กำหนดให้เปลี่ยนความผิดทางอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวและโทษปรับทางปกครองตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ จำนวน 204 ฉบับ เช่น พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ให้เป็น “ความผิดทางพินัย” และผู้กระทำความผิดทางพินัยต้องชำระ “ค่าปรับเป็นพินัย” ให้แก่รัฐ โดยไม่มีการบันทึกประวัติอาชญากร

(2) กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งรับผิดชอบในการปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ถ้าผู้กระทำความผิดยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัยตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้คดีความผิดทางพินัยเป็นอันยุติ แต่ถ้าไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวนั้นส่งสำนวนให้อัยการฟ้องคดีต่อศาลต่อไป

(3) การกำหนดค่าปรับเป็นพินัยต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับความรุนแรงของการกระทำความผิดและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิด โดยผู้กระทำความผิดอาจขอผ่อนชำระค่าปรับเป็นพินัยเป็นรายงวดก็ได้ แต่ถ้าผู้กระทำความผิดไม่มีเงินชำระค่าปรับเป็นพินัยได้ สามารถร้องขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยได้

(4) ในกรณีที่กระทำความผิดทางพินัยเพราะเหตุแห่งความยากจนเหลือทนทาน หรือเพราะความจำเป็นอย่างแสนสาหัสในการดำรงชีวิต ผู้กระทำความผิดสามารถยื่นคำร้องเพื่อให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยต่ำกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยก็ได้ และ

(5) ผู้ที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระค่าปรับเป็นพินัย ไม่ชำระค่าปรับภายในเวลาที่ศาลกำหนด ให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อชำระค่าปรับเป็นพินัยได้ 

พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับทั้งฉบับตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป เว้นแต่กรณีที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการและการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งการเสนอแนะเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ซึ่งให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ส่วนการเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาและโทษปรับทางปกครองตามกฎหมายที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติเป็นโทษปรับเป็นพินัยนั้น จะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2566 หรือเมื่อได้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามที่บทเฉพาะกาลกำหนดไว้ ซึ่งการเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาและโทษปรับทางปกครองมาเป็นโทษปรับทางพินัยนี้ ทำให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น เนื่องจากโทษปรับเป็นพินัยไม่ใช่โทษปรับทางอาญา ผู้กระทำความผิดทางพินัยจึงไม่ถูกบันทึกประวัติอาชญากรและไม่ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ รวมทั้งทำให้ระบบการลงโทษปรับทางปกครองในกฎหมายมีมาตรฐานเดียวกันอีกด้วย

ภาพปก