ตำรวจไทยกับปัญหาสุขภาพจิต

Script Writer
สุภาพิชญ์ ถิระวัฒน์, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-04
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ตำรวจเป็นอาชีพหนึ่งที่มีภาระงานหนัก ต้องให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง การพักผ่อนไม่เป็นเวลา ตำรวจบางตำแหน่งจำเป็นต้องสัมผัสมลภาวะหรือมีความเสี่ยงในการปฏิบัติงานส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพกาย นอกจากนั้น ตำรวจยังถูกตั้งความหวังจากสังคมว่าต้องเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม จิตสำนึกที่ดี ทำให้ตำรวจต้องรับแรงกดดันทั้งจากหน้าที่ราชการ สังคม และครอบครัวอยู่ตลอดเวลา จนทำให้เกิดภาวะเครียดและส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ง่ายอีกด้วย ปัญหาที่พบได้บ่อย ได้แก่

1. การพยายามทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตาย แม้การฆ่าตัวตายเกิดขึ้นได้กับทุกอาชีพ แต่ตำรวจมักมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าอาชีพอื่น เนื่องจากตำรวจมีอาวุธปืนอยู่ใกล้ตัวและต้องปฏิบัติงานใกล้ชิดกับความรุนแรงในคดีต่าง ๆ จากสถิติตั้งแต่ปี 2551-2564 มีตำรวจเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากถึง 443 นาย โดยสาเหตุเกิดจากปัญหาสุขภาพ 129 นาย ปัญหาอื่น ๆ 121 นาย ปัญหาครอบครัว 98 นาย ปัญหาส่วนตัว 39 นาย ปัญหาหนี้สิน 38 นาย และปัญหาเรื่องงาน 18 นาย 

โดยส่วนใหญ่ตำรวจที่มีแนวโน้มทำร้ายตัวเองมักมีปัญหาทุกข์ใจ ประสบเหตุการณ์ร้ายในชีวิต ท้อแท้ หมดหวัง ไม่มีที่พึ่ง คิดว่าชีวิตไม่มีความหมาย มีความวิตกกังวลสูง มีพฤติกรรมหุนหันพันแล่น หรือเคยมีประวัติเป็นผู้ป่วยจิตเวช เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน หรือมีบุคลิกภาพอ่อนแอ ต้องพึ่งพาผู้อื่น หรืออาจใช้สารเสพติด นอกจากนั้นอาจมีสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายมาก่อน เช่น พูดถึงความตาย หรือบ่นว่าอยากตาย ไม่อยากเป็นภาระของใคร มีนิสัยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างชัดเจน มีปัญหาด้านการงาน การเงิน หนี้สิน มีปัญหานอนไม่หลับ

2. การมีพฤติกรรมก้าวร้าว โดยลักษณะพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นได้ชัด คือ มีสีหน้าบึ้งตึง แววตาไม่เป็นมิตร แสดงท่าทางไม่พอใจ กระวนกระวาย อยู่นิ่งไม่ได้ พูดโต้ตอบด้วยน้ำเสียงห้วน เสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ ใช้คำพูดกระแทกกระทั้น หยาบคาย ทะเลาะวิวาท ทำลายข้าวของ ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ดังนั้น หากพบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงควรระมัดระวังอาวุธที่ติดตัวเจ้าหน้าที่ ไม่ควรเข้าหาเพียงลำพัง ไม่ควรเข้าไปอยู่ในห้องที่ปิดหรือแคบ และไม่ควรพูดด้วยเสียงที่ดัง หรือข่มขู่

3. การมีปฏิกิริยาอ่อนล้าและเครียดจากการปฏิบัติงานเป็นเวลานานหรืออยู่ในภาวะกดดัน โดยปกติปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นมักเกิดได้ทั้งอาการทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดหลัง หายใจแรง ปั่นป่วนในกระเพาะอาหาร เหม่อลอย และอาการทางจิตใจและอารมณ์ เช่น หงุดหงิด ความจำไม่ดี ตกใจตื่นเนื่องจากฝันร้าย แต่หากมีอาการเหล่านี้แล้วแต่ยังคงสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างดีในภาวะกดดันจะถูกจัดว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
    
ทั้งนี้ หากอาการที่แสดงออกมีมากกว่าปกติ เช่น ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา ร่างกายบางส่วนทำหน้าที่ไม่ได้ทั้งที่อวัยวะนั้นปกติ ตัวแข็งเกร็งในขณะอยู่ในภาวะอันตราย หมดแรง หรือขาดความสนใจในการดูแลตนเองด้านสุขอนามัย กลัวการนอนหลับ ไม่อยากอาหาร ไม่สนใจสิ่งใด ๆ อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณที่แจ้งเตือนว่าตำรวจนายนั้นจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

ในเบื้องต้นหากตำรวจมีความเครียด กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ ได้แนะนำกลยุทธ์การจัดการความเครียดเพื่อเป็นการดูแลตนเองเบื้องต้น 8 ข้อ ได้แก่ 

  1. 1. แยกแยะจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและความเครียด 
  2. 2. รู้จักปล่อยวางในปัญหาเล็กน้อยเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาที่สำคัญกว่า 
  3. 3. รู้ตนเองว่าตอนนี้ตนกำลังมีความเครียด 
  4. 4. พูดระบายความเครียด 
  5. 5. มีอารมณ์ขัน 
  6. 6. รู้จักให้กำลังใจและปลอบใจตนเอง 
  7. 7. ออกกำลังกาย 
  8. 8. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งแนวทางดังกล่าวสามารถนำมาปรับใช้ได้กับประชาชนโดยทั่วไปด้วย

ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เน้นให้ตำรวจทุกนายตรวจสุขภาพประจำปี ทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต และโรงพยาบาลตำรวจได้มีการตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาเฉพาะทาง โดยมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำกับตำรวจทั่วประเทศผ่านทั้งทางเพจเฟซบุ๊ก Depress We Care ซึมเศร้าเราใส่ใจ หรือโทร 08 1932 0000 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนอกจากการฆ่าตัวตายของตำรวจแล้ว ยังมีกรณีที่ตำรวจใช้อาวุธปืนก่อเหตุรุนแรงขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดให้มีมาตรการเร่งด่วนโดยการสุ่มตรวจสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายของข้าราชการตำรวจอย่างละเอียด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชน ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตของตำรวจเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญและควรได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจก่อเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้น หากประชาชนพบเห็นพฤติกรรมของตำรวจที่อาจเข้าข่ายมีปัญหาด้านจิตเวชสามารถร้องเรียนได้ผ่านทาง Jaray Complaint Management System (JCoMS) หรือโครงการระบบบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนของจเรตำรวจออนไลน์ ซึ่งเป็นระบบร้องเรียนร้องทุกข์ออนไลน์ของจเรตำรวจทางเว็บไซต์ www.jcoms.police.go.th ได้อีกด้วย 

ภาพปก