ปัญหาฝุ่นพิษภาคเหนือของประเทศไทย

Script Writer
อนุชา ดีสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-04
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัญหาฝุ่นพิษภาคเหนือมีมานานนับ 10 ปี แต่รุนแรงมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีมานี้ ภาคเหนือจะถูกปกคลุมด้วยฝุ่นพิษระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ทำให้ในระยะเวลาดังกล่าวจังหวัดเชียงใหม่ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของเว็บไซต์ iqair.com เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 จังหวัดเชียงใหม่ ติดอันดับ 1 ของโลก ค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 168 US AQI ซึ่งอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อประชาชน และจากการสำรวจของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2566 พบว่า ไทยมีจุดความร้อน รวมทั้งสิ้น 1,100 จุด จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ 1) จังหวัดเชียงราย 279 จุด 2) จังหวัดเชียงใหม่ 215 จุด และจังหวัดน่าน 115 จุด ในขณะที่ค่าฝุ่น PM2.5 มากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ 1) จังหวัดเชียงราย 204.6 ไมโครกรัม 2) จังหวัดแม่ฮ่องสอน 169 ไมโครกรัม และ 3) จังหวัดพะเยา 144.2 ไมโครกรัม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ฝุ่นพิษภาคเหนือแตกต่างจากปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากฝุ่นพิษภาคเหนือมีสาเหตุมาจากการเผาพื้นที่เกษตรและไฟป่าในภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้านทำให้เกิดหมอกควันข้ามแดน โดยส่วนใหญ่ปัญหาฝุ่นเกิดจากการเผาซากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อขยายพื้นที่ปลูกในที่สูง เผาอ้อยเพื่อเก็บเกี่ยว และเผาตอซังข้าวในพื้นที่ราบเพื่อเตรียมเพาะปลูกรอบต่อไป การเผาถูกมองว่าเป็นวิธีที่คุ้มค่าที่สุดเพราะใช้ต้นทุนต่ำ ใช้เวลาน้อยและทำได้ง่าย แต่เกิดปัญหามลพิษฝุ่นมากที่สุด นอกจากนั้น ยังมีการเผาตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านในพื้นที่สูงเพื่อเลี้ยงสัตว์และเก็บหาของป่า ปัจจุบันปัญหาฝุ่นพิษภาคเหนือจึง
ทวีความรุนแรงมากขึ้นเพราะปรากฏจุดความร้อนในเขตพื้นที่อนุรักษ์และประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบเพิ่มขึ้นมาก 

การเผาพื้นที่เกษตรและไฟป่าในภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้านทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ปนเปื้อนในอากาศ ก๊าซดังกล่าวเป็นก๊าซที่ไม่มีกลิ่นและไม่มีสี เกิดขึ้นได้จากการเผาไหม้คาร์บอนที่ไม่สมบูรณ์ในเชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ ไม้ โพรเพน ถ่านชาร์โคล น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน หรือเชื้อเพลิงอื่น ๆ การสูดหายใจเอาก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าสู่ร่างกายส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยตรง อาการในเบื้องต้น ได้แก่ มึนงง เวียนศีรษะ ไอ มีเสมหะมาก แสบตา ระคายเคือง เป็นต้น จากสถิติพบว่า ทางภาคเหนือมีผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคผิวหนัง และโรคที่เกี่ยวกับดวงตาเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ครัวเรือนมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทั้งค่ารักษาพยาบาลและค่าซื้ออุปกรณ์ป้องกันมลพิษ ซึ่งประชาชนในพื้นที่สามารถป้องกันตนเองจากปัญหาฝุ่นพิษได้ ดังนี้  

  1.    หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่เปิดหรือโล่งแจ้ง
  2.    สวมหน้ากากอนามัย N95 เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง
  3.    ผู้มีโรคประจำตัว เด็กและผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน
  4.    ผู้ป่วยโรคปอด โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง อาจมีอาการกำเริบเฉียบพลัน ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด  

การป้องกันตนเองของประชาชนในพื้นที่ข้างต้นเป็นเพียงการบรรเทาความรุนแรงที่เกิดจากการสูดหายใจเอาฝุ่นพิษเข้าสู่ร่างกายในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุอย่างยั่งยืน แม้ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการระยะสั้นและระยะยาวที่เข้มข้นขึ้นเพื่อควบคุมการเผา กล่าวคือ 1) มาตรการระยะสั้น เช่น การประกาศเพิ่มวันห้ามเผาในแต่ละจังหวัด การเพิ่มเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ที่ใช้ในการดับไฟป่า เป็นต้น และ 2) มาตรการระยะยาว เช่น การจัดตั้งป่าชุมชนภายใต้พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 เพื่อให้ชุมชนวางแผนอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างยั่งยืน แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นไปในเชิงป้องกันและรับมือกับการเผาพื้นที่การเกษตรและการเกิดไฟป่าโดยใช้เครื่องมือทางกฎหมาย อีกทั้งยังไม่ได้แก้ไขความเชื่อของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านที่เผาเพื่อการเกษตรและเลี้ยงสัตว์จึงเป็นที่มาที่ทำให้ภาครัฐไม่ได้รับความร่วมมือตามมาตรการระยะสั้นและระยะยาวเท่าที่ควร

ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ให้หยุดการเผาพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่า สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษทางภาคเหนือที่ถูกต้องและสร้างความร่วมมือของประชาชนในภาคเหนือ แต่ในส่วนของการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษข้ามแดน ภาครัฐจำเป็นต้องเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับการรับผลผลิตทางการเกษตรจากแปลงผลิตที่ไม่เกิดจากการเผาเพื่อเตรียมดิน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากจุดความร้อนจากดาวเทียมย้อนหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และควรให้ภาคเอกชน กล่าวคือ การลงทุนของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยเพื่อผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเข้ามามีส่วนในการรับรู้และประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นพิษทางภาคเหนือร่วมกัน    
    
อย่างไรก็ตาม การมีอากาศสะอาดเพื่อหายใจเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนพึงมี แต่ปัจจุบันอากาศสะอาดกลับเป็นทรัพยากรที่ประชาชนเข้าถึงยากขึ้นเรื่อย ๆ องค์กรกรีนพีซประเทศไทย รายงานว่า ประเทศไทยมีอากาศดีเพียง 3 เดือนต่อปีเท่านั้น คือ ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมของทุกปี ซึ่งเป็นฤดูฝน แม้ภาคประชาสังคมและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ยื่นร่างกฎหมายเกี่ยวกับอากาศสะอาดเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสภา ชุดที่ 25 จำนวน 5 ร่าง แต่พบว่า มีสองร่างไม่ได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรีเนื่องจากเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน และอีกสามร่างที่ไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาเนื่องจากมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน ดังนั้นรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรชุดต่อไปจึงควรให้ความสำคัญกับการเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับอากาศสะอาดกลับมาพิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษภาคเหนือของประเทศไทยอย่างยั่งยืน


 

ภาพปก