CBDC : สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง

Script Writer
พิมพ์ธัญญา ฆ้องเสนาะ, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-12
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

แม้ว่าในบางประเทศคริปโตเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน เช่น บิทคอยน์ จะได้รับอนุญาตให้เป็นสกุลเงินที่ชอบด้วยกฎหมายอย่างประเทศ เอลซัลวาดอร์ แอฟริกากลาง แต่ด้วยคุณสมบัติของสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีที่ไม่สามารถจับต้องได้ แตกต่างจากธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ ซึ่งหากมีการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าหรือบริการจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ในการยืนยันการแลกเปลี่ยนเงินได้ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างสถาบันการเงินมาตรวจสอบความถูกต้อง และสามารถป้องกันการถูกโจรกรรมข้อมูลได้ อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนสกุลเงินไม่ใช่เรื่องง่ายและมีข้อจำกัดหลายประการ จึงทำให้หลายประเทศมีข้อกังวลในการนำสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีไปใช้เชื่อมโยงกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การค้ายาเสพติด การฟอกเงิน การเผชิญความเสี่ยงมูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลที่มีความผันผวนสูง ไม่มีการระบุตัวตนและสินทรัพย์หนุนหลัง โดยส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นการลงทุนเพื่อการเก็งกำไร ทั้งนี้ เนื่องจากธนาคารกลางไม่สามารถควบคุมปริมาณเงินหรือสภาพคล่องของสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีได้ จึงไม่สามารถกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจ ในหลายประเทศจึงได้มีการศึกษา กำหนดแนวนโยบาย ตลอดจนได้มีการทดลองใช้สกุลเงินที่ออกโดยธนาคารกลางเอง หรือ CBDC ซึ่งย่อมาจาก Central Bank Digital Currency ที่มีคุณสมบัติไม่ต่างจากเงินสดทั่วไปและเป็นเงินของรัฐแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล สามารถใช้เป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ รวมถึงชำระหนี้ได้ตามกฎหมายต่างจากสกุลเงินดิจิทัลภาคเอกเชน โดยปัจจุบัน CBDC แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) การทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) เพื่อใช้ในการโอนชำระเงินระหว่างธนาคารและในกระบวนการชำระบัญชี และ 2) การทำธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (Retail CBDC) เพื่อการใช้จ่ายหรือการชำระเงินของประชาชน ในปัจจุบันมีธนาคารกลางมากกว่า 110 แห่งทั่วโลก เริ่มพัฒนา CBDC เพื่อทดลองและนำมาปรับใช้กับประเทศของตน โดยจีนเป็นประเทศแรกที่มีการนำร่องใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางสำหรับประชาชน เรียกว่า “หยวนดิจิทัล” (e-CNY) ในเดือนเมษายน 2564 โดยมีการทดลองในเมืองใหญ่ อาทิ เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น เฉิงตู คาดว่าในอนาคตจะมีการขยายพื้นที่การทดลองใช้งานเงินหยวนดิจิทัลตามมณฑลและเมืองต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัฐบาลจีนยังมีการนำเงินหยวนดิจิทัลมาอุดหนุนประชาชน โดยใช้วิธีจับสลาก ซึ่งสามารถนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าออนไลน์และร้านค้าทั่วไป เพื่อกระตุ้นการบริโภคในเขตเศรษฐกิจของประเทศที่รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นอกจากนี้ ยังมีแผนจะนำ เงินหยวนดิจิทัลมาใช้ในการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ เงินสนับสนุนทางการคลัง รวมถึงการใช้จ่ายในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้วย ส่วนธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ อยู่ในระดับขั้นตอนของการพัฒนา CBDC ดังนี้

  1. 1. ขั้นตอนวิจัยและค้นคว้า (Research) เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย เวียดนามปากีสถาน ลาว เมียนมา เป็นต้น
  2. 2. ขั้นตอนการพัฒนา (Development) โดยเริ่มมีการนำ CBDC มาทดลองใช้ภายใต้สภาวะแวดล้อมควบคุม เพื่อทดสอบการทำงานก่อนจะอนุญาตให้ใช้งานจริง เช่น ญี่ปุ่น กัมพูชา สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา สเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี อิสราเอล เลบานอน เป็นต้น 
  3. 3. ขั้นตอนการนำไปใช้จริง (Launched) โดยเริ่มประกาศใช้ CBDC ในระดับประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจอย่างเป็นทางการ ซึ่งสามารถทำธุรกรรมและชำระหนี้ได้เช่นเดียวกับเงินสด เช่น ไนจีเรีย บาฮามาส จาเมกา แองโกลา เป็นต้น
  4. 4. สถานะถูกยกเลิก (Canceled) โดยส่วนมากมักเป็นประเทศที่ได้มีการศึกษาสกุลเงินดิจิทัลมาระยะหนึ่งแต่ติดอุปสรรคบางประการ จึงหยุดพัฒนาและยกเลิกการใช้งาน CBDC คือ เอกวาดอร์และเซเนกัล

สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือเป็นธนาคารกลางแรก ๆ ของโลก ที่มีการศึกษาทดลอง และพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลภายใต้ชื่อ "โครงการอินทนนท์" ระหว่างเดือนสิงหาคม 2561 - ธันวาคม 2562 มีขอบเขตการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) เพื่อหาช่องทางในการนำ CBDC มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการชำระเงินระหว่างสถาบันการเงิน โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและต่อยอดโครงการ แบ่งออกเป็น

  1. 1. โครงการ mBridge ในการพัฒนา Wholesale CBDC เพื่อการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยศึกษาร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) สถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC DCI) ธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CBUAE) และศูนย์พัฒนานวัตกรรมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BISIH) ณ เมืองฮ่องกง ทดลองการสร้างระบบที่สถาบันการเงินของแต่ละประเทศสามารถเชื่อมต่อกันได้โดยตรงตลอด 24 ชั่วโมงแบบไม่ต้องพึ่งพิงตัวกลาง ผลเบื้องต้นพบว่าช่วยลดระยะเวลาการโอนเงินระหว่างประเทศลดลงเหลือเป็นหลักวินาที ทั้งนี้ ตามรายงานของบริษัท PwC โครงการ mBridge ถูกจัดให้เป็นโครงการที่มีความก้าวหน้าด้านการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลในระดับสถาบันการเงินมากที่สุดของโลก
  2. 2. การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับภาคประชาชน หรือ Retail CBDC โดยแบ่งการทดสอบเป็น 2 ส่วนหลัก ดังนี้      
    •  1) การทดสอบระดับพื้นฐาน ซึ่งนำเงินในรูปแบบดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าบริการในพื้นที่เฉพาะในกลุ่มผู้ใช้งาน 10,000 ราย โดยร่วมกับภาคเอกชน ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ไปจนถึงกลางปี 2566
    • 2) การทดสอบระดับนวัตกรรม โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดให้ภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมนำเสนอรูปแบบทางธุรกิจ (Use cases) ในการพัฒนาต่อยอด Retail CBDC ผ่านโครงการ "CBDC Hackathon" เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการที่หลากหลาย และเหมาะสมกับบริบทของไทยในอนาคต 
ภาพปก