พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox)

Script Writer
สุริยา ฆ้องเสนาะ, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-12
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ ส่งผลสำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 261 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระเพื่อดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการปฏิรูปการศึกษา คือ “คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา” ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาจำนวน 7 ประเด็น ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่สำคัญในการปฏิรูปการศึกษา คือ ประเด็นที่ 6 การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนโดยได้กำหนดให้มี “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ขึ้น โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเหมาะสมสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของชุมชน พื้นที่ มีการเรียนรู้และขยายผลของนวัตกรรมที่ได้จากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสู่การจัดการศึกษาในพื้นที่อื่น ๆ

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) คือ พื้นที่การศึกษาที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สำหรับการทดลองนวัตกรรมการศึกษา โดยให้อำนาจแก่สถานศึกษาในการบริหารงานได้อย่างอิสระ และจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามเป้าหมายการศึกษาที่กำหนดไว้ โดยมีหน่วยงานส่วนกลางให้การสนับสนุนทั้งในด้านทรัพยากรและกลไกการหนุนเสริมแก่โรงเรียนในพื้นที่อย่างเหมาะสม ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของพื้นที่ โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้ 

1) กระจายอำนาจให้โรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ มีอิสระในการบริหารจัดการหลักสูตร บุคลากร และการจัดการเรียนการสอนได้เอง ให้โรงเรียนและพื้นที่สร้างหลักสูตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่นได้ โดยยังสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางที่สำคัญ และ

2) เป็นพื้นที่สำหรับทดลองนวัตกรรมการศึกษาแบบใหม่ตามแนวทางการจัดทำพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดังนี้ 
1) ใช้หลักสูตรสร้างทักษะศตวรรษที่ 21 ตามบริบทพื้นที่ 2) จัดหาสื่อการสอนรูปแบบใหม่ 3) สร้างภาคีร่วมพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ 4) การสอบและการประเมินผลต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนา และ 5) การบริหารจัดการช่วยลดภาระโรงเรียน

โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  1. 1) คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน รวมทั้งเพื่อดำเนินการให้มีการขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น
  2. 2) ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา
  3. 3) กระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษา และสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหาร และการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ
  4. 4) สร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

โดยในครั้งแรกได้มีสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจำนวน 8 จังหวัด มีจำนวนโรงเรียนทั้งสิ้น 541 โรงเรียน แยกเป็น
โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 444 โรงเรียน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 45 โรงเรียน และ

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 52 โรงเรียน 

โดยตั้งอยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 163 โรงเรียน 

จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 104 โรงเรียน 

จังหวัดระยอง จำนวน 82 โรงเรียน 

จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 60 โรงเรียน 

จังหวัดนราธิวาส จำนวน 53 โรงเรียน 

จังหวัดปัตตานี จำนวน 32 โรงเรียน

จังหวัดยะลา จำนวน 30 โรงเรียน 

และจังหวัดสตูล จำนวน 17 โรงเรียน 

ซึ่งจากการติดตามผลการดำเนินงานของ 8 จังหวัด ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ เช่น กฎระเบียบส่วนใหญ่ได้รับการแก้ไขให้มีอิสระ โดยเฉพาะด้านวิชาการ จังหวัดมีเอกลักษณ์ มีส่วนร่วมในการพัฒนา โรงเรียนนำร่องที่เปลี่ยนแปลงมีจุดเด่นทางด้านวิชาการ มีการปรับหลักสูตรร้อยละ 89 เลือกสื่อการเรียนการสอนได้อิสระร้อยละ 65 มีปรับการวัดและประเมินผลการเรียนร้อยละ 78 ส่งผลให้เด็ก ๆ ได้รับโอกาสเรียนรู้แบบมีความหมายและประยุกต์ใช้ความรู้มากขึ้น มีกลไกเชิงพื้นที่รับฟังปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ มีเป้าหมายร่วมกัน เกิดการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบในการพัฒนา แสวงหา และเลือกนวัตกรรมที่หลากหลายมาใช้ให้เหมาะสมกับปัญหาสอดคล้องกับบริบทพื้นที่

ต่อมาได้มีประกาศกำหนดให้มีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพิ่มเติม จำนวน 11 จังหวัด ดังนี้ กรุงเทพมหานคร จังหวัดกระบี่ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดภูเก็ต จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดสงขลา จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสุโขทัย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้งนี้ เมื่อรวมพื้นที่นำร่องจำนวน 8 จังหวัดแล้ว ทำให้ปัจจุบันมีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษารวม 19 จังหวัด

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นการจัดการศึกษารูปแบบหนึ่งที่นำมาใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา โดยการจัดการศึกษาให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพในแต่ละพื้นที่ มีอิสระในด้านหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการสถานศึกษาที่มีความคล่องตัว ตลอดจนการสร้างและพัฒนาการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ อันจะนำไปสู่การยกระดับการจัดการศึกษาของประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพต่อไป

ภาพปก