ปัญหาการลักลอบขโมยสายไฟฟ้าบริเวณทางหลวง

Script Writer
ณัฐพงศ์ พันธุ์ไชย, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-12
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัญหาการลักลอบขโมยสายไฟฟ้าบริเวณทางหลวงโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท นับเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย เนื่องจากวัตถุประสงค์สำคัญของการติดตั้งสายไฟฟ้าดังกล่าว เพื่อเป็นการเพิ่มความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกต่อทัศนวิสัยหรือการมองเห็นของผู้ใช้รถใช้ถนนในยามค่ำคืน แต่เมื่อสายไฟฟ้าถูกขโมยจึงส่งผลกระทบให้การส่องสว่างของถนนบริเวณนั้นดับลงไป และกระทบต่อทัศนวิสัยในการขับขี่ของผู้ใช้รถใช้ถนนให้ลดลงจากภาวะปกติ อันนำมาสู่สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ การเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนบนท้องถนน

ทั้งนี้ สถิติการถูกโจรกรรมอุปกรณ์งานทาง ประจำปี 2565 ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท พบว่า สายไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์งานทางที่กลุ่มมิจฉาชีพมักจะทำการลักลอบขโมย โดยมูลค่าความเสียหายของทั้งสองหน่วยงานประมาณ 13,000,000 บาท และ 26,000,000 บาทตามลำดับ เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์การลักลอบขโมยสายไฟฟ้าสามารถแบ่งกลุ่มมิจฉาชีพออกเป็น 3 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ 

กลุ่มที่ 1 กลุ่มคนในพื้นที่ เช่น เยาวชน ผู้ติดยาเสพติดที่อยู่ในชุมชน เป็นต้น โดยแต่ละครั้งจะลักลอบขโมยสายไฟฟ้าจำนวนไม่มาก แต่การจับกุมจะกระทำได้ยากเนื่องจากรู้จักพื้นที่และเส้นทางการหลบหนีเป็นอย่างดี

กลุ่มที่ 2 กลุ่มมืออาชีพ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกจ้างของบริษัทรับเหมาที่ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมจ้างมาบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมระบบ โดยคนกลุ่มนี้จะมีความชำนาญเพราะเป็นงานที่ทำเป็นประจำอยู่แล้ว 

กลุ่มที่ 3 กลุ่มชั่วคราว ส่วนใหญ่มักจะใช้รถยนต์ตระเวนลักลอบขโมยสายไฟฟ้าตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยบางกลุ่มจะดัดแปลงรถยนต์ให้คล้ายกับรถของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า มีการแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า หรืออาจติดตั้งไฟไซเรนบนหลังคารถหรือบนถนน เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ 

ทั้งนี้ มูลเหตุจูงใจที่สำคัญของกลุ่มมิจฉาชีพนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยสายไฟฟ้าจะมีตัวนำไฟฟ้าที่มีส่วนประกอบของทองแดง ซึ่งเป็นโลหะที่มีความแข็งแกร่ง มีความต้านทานสูง และมีราคาซื้อขายที่สูงตามราคาท้องตลาดคิดเป็นประมาณ 260-280 บาทต่อกิโลกรัมดังนั้น กลุ่มมิจฉาชีพจึงมักจะลักลอบขโมยสายไฟฟ้าแล้วนำไปขายกับร้านค้าต่าง ๆ ที่ตนเองรู้จักหรือคุ้นเคย

สำหรับบทลงโทษของกลุ่มมิจฉาชีพที่ลักลอบขโมยสายไฟฟ้านั้น ตามประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนดพฤติกรรมของการลักลอบขโมยสายไฟฟ้าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานลักทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท และหากมีกรณีอื่นร่วมด้วย เช่น ทำการลักลอบขโมยสายไฟฟ้าในเวลากลางคืน หรือลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน หรือร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เป็นต้น กลุ่มมิจฉาชีพหรือผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 140,000 บาท และในส่วนของร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้รับซื้อสายไฟฟ้าจากกลุ่มมิจฉาชีพก็จะมีความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 200,000 บาทด้วยเช่นกัน อีกทั้ง การลักลอบขโมยสายไฟฟ้ายังเป็นความผิดฐานทำลายหรือทำให้เสียหายแก่ทางหลวง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 อีกด้วย

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาการลักลอบขโมยสายไฟฟ้าบริเวณทางหลวงนั้น จำเป็นต้องใช้หลายแนวทางร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินการ เช่น 
1. กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และหน่วยงานในท้องถิ่น จำเป็นต้องร่วมกันกำหนดแนวทาง เพื่อให้สมาชิกในชุมชนและเครือข่ายทางหลวงช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต้องมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้แก่ชุมชน และผู้ใช้รถใช้ถนนได้ตระหนักในการมีส่วนร่วมในสังคม ช่วยกันตรวจตรา ดูแล และตรวจสอบทรัพย์สินของทางราชการ
2. กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์บางอย่างให้ใกล้พื้นที่ชุมชน และควรพัฒนาพื้นที่ที่รกร้างให้โปร่งโล่งไม่เป็นจุดล่อแหลมต่อการก่อเหตุของกลุ่มมิจฉาชีพ เพื่อให้ประชาชนสามารถช่วยตรวจตราและสังเกตเห็นความผิดปกติได้ง่ายและชัดเจน
3. การนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ โดยกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์และให้มีจำนวนที่เพียงพอ เพื่อใช้ในการสอดส่องดูแล เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV เป็นต้น

ภาพปก