ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย

Script Writer
สุริยา ฆ้องเสนาะ, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-12
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะเป็นผู้ดำเนินการจัดสอบคัดเลือกเอง กระทั่งในปี 2504 ได้เปลี่ยนมาเป็นระบบกลางในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่เรียกว่า การสอบเอ็นทรานซ์ (Entrance) ซึ่งต่อมาได้ถูกยกเลิกในปี 2549 และได้เปลี่ยนมาเป็นระบบที่เรียกว่าแอดมิชชั่น (Admissions) แทน ซึ่งเป็นการใช้คะแนนเฉลี่ยสะสมของทุกวิชาที่ได้เรียนมาตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า (GPAX) คะแนนเฉลี่ยสะสมกลุ่มสาระการเรียนรู้ (GPA) คะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต (O-NET) รวมถึงการทดสอบทางการศึกษาขั้นสูงหรือเอเน็ต (A-NET) มาเป็นองค์ประกอบอีกด้วย ทั้งนี้ การใช้ระบบแอดมิชชั่นก็ยังส่งผลให้มีปัญหาตามมา คือ โรงเรียนมีมาตรฐานการเรียนการสอนไม่เหมือนกัน จึงทำให้เกรดที่ได้แตกต่างกัน ดังนั้น ในปี 2553 จึงได้มีการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว โดยได้ให้มีการยกเลิกการสอบเอเน็ต และนำการสอบ GAT/PAT เข้ามาแทน โดย GAT เป็นการสอบความถนัดทั่วไป เช่น ความสามารถในการอ่าน/การเขียน/การคิดเชิงวิเคราะห์ และภาษาอังกฤษ เป็นต้น ส่วน PAT เป็นการสอบความถนัดวิชาชีพและวิชาการ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปรับปรุงระบบการสอบแอดมิชชั่นแล้ว แต่ก็ยังมีมหาวิทยาลัยอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงยืนยันจะเปิดจัดสอบคัดเลือกโดยตรงเอง โดยอ้างว่าไม่มั่นใจในระบบการคัดเลือกนักศึกษาใหม่ของส่วนกลาง อีกทั้งการเปิดจัดสอบคัดเลือกเองโดยตรงยังทำให้ได้เด็กที่ตรงตามความต้องการของมหาวิทยาลัยอีกด้วย แต่จากการที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีการจัดสอบโดยตรงเอง ขาดการประสานงาน ทำให้ผู้สมัครหนึ่งคนอาจมีชื่อสอบติดได้หลายมหาวิทยาลัย ส่งผลให้เกิดปัญหาการกันสิทธิที่เรียนกับผู้สมัครคนอื่นตามมา

จากปัญหาข้างต้น ในปี 2555 สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ). จึงได้มีการเพิ่มการจัดสอบ “วิชาสามัญ” ขึ้น เพื่อให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งนำคะแนนดังกล่าวไปใช้ในการรับตรงได้ โดยไม่ต้องจัดสอบเองในวิชาเหล่านี้ เช่น การรับตรงของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ก็หันมาใช้คะแนนสอบวิชาสามัญนี้ ร่วมกับคะแนนสอบวิชาเฉพาะที่ทาง กสพท. จัดสอบเองเพิ่มเติม ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบรับตรงได้ ประเทศไทยจึงทำการปรับเปลี่ยนระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาอีกครั้งในปี 2561 จากระบบแอดมิชชั่น มาเป็นระบบ TCAS หรือ Thai University Center Admission System ซึ่งเป็นระบบที่ออกแบบโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยระบบ TCAS จะต่างกับการคัดเลือกที่ผ่านมา คือ การสอบคัดเลือกในแต่ละรอบเมื่อรับเสร็จจะทำการยืนยันสิทธิ์ (Clearing house) กล่าวคือ นักเรียน 1 คน มีสิทธิ์ในการยืนยันการเข้าศึกษาต่อในสาขาที่สอบได้ เมื่อยืนยันแล้ว ระบบจะตัดชื่อออกจากการมีสิทธิ์สมัครสอบในรอบต่อไป หากต้องการสมัครในรอบต่อไปต้องสละสิทธิ์ก่อน แต่หากมีการสมัครครั้งต่อไปโดยไม่สละสิทธิ์แล้วผ่านการคัดเลือกจะถือเป็นโมฆะ โดยระบบ TCAS มีหลักการสำคัญดังนี้ 1) นักเรียนควรอยู่ในห้องเรียนจนจบช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 2) นักเรียนแต่ละคนมีเพียง 1 สิทธิ์ ในการตอบรับเข้าศึกษาในสาขาวิชาที่เลือก และ 3) นักเรียนไม่วิ่งรอกสอบ โดยเริ่มใช้เป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2561 โดยแบ่งเป็น 5 รอบตามลำดับ ดังนี้

  1. รอบที่ 1 การรับด้วยการเสนอแฟ้มผลงาน (Portfolio) โดยไม่มีการสอบข้อเขียน: สำหรับนักเรียนทั่วไป นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ นักเรียนโควตา นักเรียนเครือข่าย โดยให้นักเรียนยื่นสมัครโดยตรงกับสถาบันอุดมศึกษา
  2. รอบที่ 2 การรับแบบโควตาที่มีการสอบข้อเขียนหรือข้อสอบปฏิบัติ สำหรับนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่หรือภาค นักเรียนโรงเรียนในเครือข่าย และโครงการความสามารถพิเศษต่าง ๆ โครงการที่จะเปิดรับสมัครในรอบนี้จะต้องกำหนดเงื่อนไขโควตา เช่น รับนักเรียนในเขตพื้นที่ตามภูมิลำเนาที่ตั้งของมหาวิทยาลัย เป็นต้น
  3. รอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน สำหรับนักเรียนในโครงการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย โครงการอื่น ๆ และนักเรียนทั่วไป โดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร นักเรียนสามารถเลือกได้ 4 สาขาวิชาโดยไม่ต้องเรียงลำดับ และแต่ละสถาบันอุดมศึกษากำหนดเกณฑ์ที่เป็นอิสระของตนเอง
  4. รอบที่ 4 การรับแบบแอดมิดชั่น (Admission) สำหรับนักเรียนทั่วไป โดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร นักเรียนสามารถเลือกสมัครได้ 4 สาขาวิชา แบบมีลำดับ โดยใช้เกณฑ์กลางที่กำหนดร่วมกันในการคัดเลือก ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะประกาศให้ทราบล่วงหน้า 3 ปี
  5. รอบที่ 5 การรับตรงอิสระ สำหรับนักเรียนทั่วไป จะให้สถาบันอุดมศึกษากำหนดเกณฑ์การคัดเลือกและดำเนินการรับสมัครด้วยตนเอง ซึ่งอาจกำหนดให้มีการสอบข้อสอบเฉพาะของสาขาวิชาเพิ่มเติมก็ได้

แต่ปัจจุบันระบบ TCAS ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการรับจากจำนวน 5 รอบ ให้เหลือเพียง 4 รอบ โดยการควบรวมการสมัคร รอบ 3 และรอบ 4 ให้สมัครคัดเลือกพร้อมกัน เพื่อลดระยะเวลาการคัดเลือก คือ รอบที่ 1 การรับด้วย Portfolio รอบที่ 2 การรับแบบโควตา รอบที่ 3 การรับแบบ Admission และรอบที่ 4 การรับตรงอิสระ ซึ่งที่ผ่านมาการรับสมัครด้วยระบบ TCAS มีการเปลี่ยนแปลง แก้ไขกฎเกณฑ์มาโดยตลอด เช่น รอบการรับสมัคร ข้อสอบ เกรดเฉลี่ยที่ใช้ในการคิดคำนวณ

ดังนั้นบุคคลที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย จึงต้องติดตาม ศึกษา และทำความเข้าใจกับกฎเกณฑ์ของระบบการคัดเลือกอยู่เสมอ เพื่อมิให้พลาดโอกาสในการเข้ารับการศึกษาต่อ

ภาพปก