การลบประวัติอาชญากร

Script Writer
อริย์ธัช แก้วเกาะสะบ้า, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-12
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

เนื่องจากในการเข้ารับราชการจะต้องมีการตรวจสอบประวัติอาชญากรกับกองทะเบียนประวัติอาชญากร หรือแม้แต่บริษัทเอกชนบางแห่งก็มีการตรวจสอบประวัติอาชญากรเช่นกัน ซึ่งบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา บุคคลที่คดีถึงที่สุดศาลยกฟ้อง คดีที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง และบุคคลที่พ้นโทษออกมาแล้ว จะถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลประวัติอาชญากร แต่ปรากฏว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการลบประวัติอาชญากรและคัดแยกประวัติอาชญากร ทำให้ประชาชนมีชื่อบันทึกอยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรสูงถึง 13 ล้านรายชื่อ ประชาชนที่ต้องการลบประวัติอาชญากรต้องมายื่นคำร้องต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งเป็นปัญหายุ่งยากและสร้างภาระให้แก่ประชาชน

ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้มีการแก้ไขปรับปรุงและประกาศใช้ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2566 ใหม่ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว โดยได้มีการคัดแยกทะเบียนออกเป็น 3 ทะเบียน ได้แก่ 

  1. 1) ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา 
  2. 2) ทะเบียนประวัติอาชญากร 
  3. 3) ทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร 

โดยการคัดแยกและถอนแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือและรายการประวัติหรือบัญชีประวัติของบุคคลออกจากทะเบียนประวัติผู้ต้องหา 
ทะเบียนประวัติอาชญากร และทะเบียนประวัติผู้กระทำผิดที่มิใช่อาชญากร ในกรณีดังต่อไปนี้ 

  1. 1) คดีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องหรือคดีถึงที่สุดศาลยกฟ้อง ให้ถอนชื่อออกจากทะเบียนประวัติผู้ต้องหา 
  2. 2) มีกฎหมายบัญญัติ
  3. ในภายหลังว่าการกระทำใดไม่เป็นความผิดอีกต่อไป 
  4. 3) ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 
  5. 4) ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดได้รับการนิรโทษกรรม 
  6. 5) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดทางอาญาและได้รับการอภัยโทษหรือได้รับประโยชน์จากกฎหมายล้างมลทิน ให้ถอนชื่อและประวัติออกจากทะเบียนประวัติ เมื่อพ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้รับการอภัยโทษหรือมีกฎหมายล้างมลทิน และยกเว้นข้อหาที่ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจกำหนด
  7. 6) ผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดในคดีอาญา ไม่ได้กระทำความผิดซ้ำอีก ให้ถอนชื่อและประวัติเมื่อพ้นระยะเวลายี่สิบปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด และยกเว้นข้อหาที่ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจกำหนด 
  8. 7) ผู้กระทำความผิดเป็นเด็กหรือเยาวชน ตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 
  9. 8) เมื่อมีคำพิพากษาของศาลรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ว่าบุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิดและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด และ 
  10. 9) แผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือของบุคคลที่ไม่ได้นำตัวมาดำเนินคดีจนคดีขาดอายุความ

ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำการลบประวัติอาชญากรไปแล้วจำนวน 2,587,082 รายการ และได้แจ้งให้ประชาชนทราบแล้วจำนวน 764,772 รายการ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2566)

ในการคัดแยกประวัติผู้ต้องหาและลบประวัติอาชญากรนั้นได้คืนสิทธิให้แก่ประชาชน ทำให้สามารถประกอบอาชีพได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลที่อยู่ในโครงการ “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน” ได้ที่เว็บไซต์ www.crd-check.com ซึ่งนับว่าโครงการ “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน” สร้างความผาสุกให้กับประชาชนได้กลับเข้าสู่สังคมอย่างผู้บริสุทธ์

ภาพปก