โครงการประกันภัยข้าวนาปี

Script Writer
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-01
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

จากความแปรปรวนของสภาพอากาศและภาวะภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคการเกษตร โดยทำให้พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ส่งผลให้เกษตรกรขาดรายได้และมีจำนวนเงินทุนไม่เพียงพอสำหรับการใช้เพาะปลูกในปีการผลิตถัดไป ซึ่งเป็นเหตุทำให้ต้องกู้ยืมเงินและก่อให้เกิดภาระหนี้สินตามมา ภาครัฐจึงได้ให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติในด้านการเกษตร เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินฯ และได้ผลักดันระบบประกันภัยสำหรับเกษตรกร เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเงินในการถ่ายโอนความเสี่ยงจากเกษตรกรไปยังผู้รับประกันภัย เพื่อให้เกษตรกรได้รับความคุ้มครองเมื่อผลผลิตได้รับความเสียหายจากภาวะภัยพิบัติทางธรรมชาติ 

โดยประเทศไทยเริ่มมีการศึกษารูปแบบประกันภัยทางการเกษตรเมื่อปี 2513 ต่อมาได้มีการจัดทำโครงการประกันภัยพืชผล ได้แก่ ฝ้าย ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วเหลือง และในปี 2553 ได้เริ่มดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปีในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จากนั้นจึงได้ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปีทั่วทุกภาคของประเทศมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีการผลิต 2554 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบประกันภัย และเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินฯ เพื่อรองรับต้นทุนในการเพาะปลูกข้าวให้กับเกษตรกรเมื่อประสบเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ

สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 ได้ให้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ 
1) น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก 
2) ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง 
3) ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น 
4) ภัยอากาศหนาว หรือน้ำค้างแข็ง 
5) ลูกเห็บ 
6) ไฟไหม้ 
7) ช้างป่า และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 

โดยจำแนกอัตราค่าเบี้ยประกันเป็น 2 ประเภท คือ อัตราเบี้ยประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) และอัตราเบี้ยประกันภัยโดยสมัครใจ (Tier 2) ซึ่งเป็นการซื้อประกันภัยในส่วนเพิ่มเติม

โดยโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) แตกต่างกันตามพื้นที่ความเสี่ยง อยู่ระหว่างอัตรา 99-218 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งจะได้รับวงเงินความคุ้มครอง 1,190 บาทต่อไร่สำหรับภัยธรรมชาติ 7 ภัยดังกล่าวข้างต้น ขณะที่ภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาดจะได้รับวงเงินความคุ้มครอง 595 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ รัฐบาลได้อุดหนุนเบี้ยประกันภัยเฉพาะในส่วนของประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) บางส่วนด้วย

ส่วนอัตราเบี้ยประกันภัยโดยสมัครใจ (Tier 2) ได้กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยโดยสมัครใจแตกต่างกันตามพื้นที่ความเสี่ยงเช่นกัน อยู่ระหว่างอัตรา 27-110 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยจะได้รับวงเงินความคุ้มครองเพิ่มเติมอีก 240 บาทต่อไร่ รวมวงเงินความคุ้มครองทั้งหมด 1,430 บาทต่อไร่สำหรับภัยธรรมชาติ 7 ภัย ขณะที่ภัยจากศัตรูพืชและโรคระบาดจะได้รับวงเงินความคุ้มครองเพิ่มเติมอีก 120 บาทต่อไร่ รวมวงเงินความคุ้มครองทั้งหมด  715 บาทต่อไร่

โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 ได้เริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยนับแต่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 และสิ้นสุดการจำหน่ายกรมธรรม์แตกต่างกันตามภูมิภาค โดยภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ภาคตะวันตกไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2565 และภาคใต้ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2565 

ผลการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปีนับแต่ปีการผลิต 2554-2564 ได้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรไปแล้วจำนวน 12,911 ล้านบาท สำหรับผลการดำเนินงานในปีการผลิต 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราการเข้าถึงประกันภัยร้อยละ 72 ครอบคลุมเกษตรกรกว่า 3.7 ล้านครัวเรือน และได้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรจำนวน 1,538 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทนร้อยละ 43 ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานโครงการประกันภัยข้าวนาปีเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าว เพื่อคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและภัยจากศัตรูและโรคระบาด ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจและความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรได้อีกทางเลือกหนึ่ง

ภาพปก