การปิดอ่าว

Script Writer
วิริยะ คล้ายแดง, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-05
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ประเทศไทยมีทะเลอ่าวไทยที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำ อ่าวไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 270,000 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิสัณฐานของพื้นท้องทะเลอ่าวไทยเป็นแอ่งกระทะ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ อ่าวไทยตอนบน อ่าวไทยตอนกลาง และอ่าวไทยตอนล่าง ความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำของอ่าวไทยทำให้อุตสาหกรรมการประมงของไทยก้าวหน้าเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำทางด้านประมง สามารถนำเงินตราเข้ามาพัฒนาประเทศได้ปีละกว่าแสนล้านบาท 
    
แต่ในขณะที่ศักยภาพทางการประมงกำลังพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งกลับก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของอ่าวไทย โดยเฉพาะประชากรสัตว์น้ำที่นับวันจะลดน้อยลง เนื่องจากธรรมชาติไม่สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการการบริโภค จนในปี 2500 เมื่อ 66 ปีที่แล้ว แหล่งประมงในอ่าวไทยได้เกิดวิกฤตการณ์ปลาทูวัยเจริญพันธุ์ขาดแคลน ครั้งนั้นกรมประมงในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการดูแลรักษาฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและพัฒนาทะเลไทย จึงได้ริเริ่มประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน และมาตรการห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงในบางพื้นที่ของอ่าวไทย หรือที่เรียกว่า “ปิดอ่าว” เพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันมิให้พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำและสัตว์น้ำในระยะวัยอ่อนถูกจับมากเกินไป ผลสำเร็จในคราวนั้น ส่งผลให้อ่าวไทยยังคงมีความอุดมสมบูรณ์สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป และเพื่อให้ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลถาวรตลอดไป กรมประมงจึงยังคงใช้มาตรการปิดอ่าวสืบเนื่องตลอดมา

การปิดอ่าวหรือมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลาที่มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนกลางที่ผ่านมา จะดำเนินการระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์-15 พฤษภาคมของทุกปี ในอาณาเขตพื้นที่ประมาณ 26,400 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีการกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิด ที่อาจส่งผลต่อการแพร่พันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์และสัตว์น้ำวัยอ่อนในท้องทะเลอ่าวไทย โดยเฉพาะ “ปลาทู” สัตว์น้ำที่มีคุณค่าและความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ มาตรการปิดอ่าวสามารถช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลให้คืนกลับมาได้อย่างยั่งยืน ซึ่งยืนยันได้จากผลการเก็บข้อมูลจำนวนประชากรสัตว์น้ำของกรมประมงในช่วงหลังฤดูกาลปิดอ่าวไทยตอนกลาง พบว่ามีความชุกชุมของสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปลาทูมีความชุกชุมตลอดทั่วทะเลอ่าวไทยเพิ่มขึ้นก่อนปิดอ่าวถึง 4 เท่า จึงแสดงให้เห็นว่ามาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลางมีส่วนช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลให้มีเป็นจำนวนมากอย่างยั่งยืน ช่วยอนุรักษ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจในวัยอ่อน ปลาหน้าดิน และปลาทู 
    
การกำหนดช่วงฤดูปิดอ่าว อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 70 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในพื้นที่และในระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน หรือระยะเวลาอื่นใดที่จำเป็นต่อการคุ้มครองสัตว์น้ำตามที่อธิบดีประกาศกำหนด เว้นแต่จะใช้เครื่องมือ วิธีการทำการประมง และปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นบรรดาที่อธิบดีกำหนด” และได้มีการออก “ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2561” เพื่อกำหนดเป็นมาตรการปิดอ่าว สำหรับการกำหนดช่วงฤดูปิดอ่าว ประจำปี 2566 ยังคงบังคับใช้ตามประกาศฉบับนี้อยู่ โดยแบ่งเป็นบริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบนและอ่าวไทยตอนกลาง อย่างละ 2 ช่วงระยะเวลา ดังนี้ 

บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน มี 2 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน ถึง 15 สิงหาคม 2566 ในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร และระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ถึง 30 กันยายน 2566 ในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี

บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง มี 2 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 15 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม ถึง 14 มิถุนายน 2566 ในบริเวณตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

การปิดอ่าวเพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจให้สามารถวางไข่ แพร่ขยายพันธุ์ และคุ้มครองลูกสัตว์น้ำให้สามารถเจริญเติบโตทดแทนสัตว์น้ำที่ถูกจับไปนั้น ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาทุกปีและนำผลการศึกษาทางวิชาการมาปรับปรุงมาตรการให้สอดคล้องกับสภาวะทรัพยากรในแต่ละพื้นที่และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา

อย่างไรก็ดี การปิดอ่าวย่อมกระทบต่อการทำประมงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หากชาวประมงให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย มาตรการปิดอ่าวสามารถทำให้เกิดกระบวนการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตปลาทูแต่ละช่วงวัย ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ชาวประมงเกิดความตระหนักในการทำประมงได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้คุ้มค่าเกิดความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ และเกิดความสมดุลกับการประกอบอาชีพของชาวประมงตลอดไป

ภาพปก