ระบบศาลในประเทศไทย

Script Writer
คณาธิป ไกยชน, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-11
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ศาลเป็นองค์กรของรัฐที่ใช้อำนาจตุลาการในการตัดสินข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย และเป็นองค์กรที่มีความสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมในสังคม อาทิ ทำหน้าที่ยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นหลักประกันสำหรับประชาชนว่าจะได้รับการพิจารณาคดีตามกฎหมายอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค ทำให้ระบบกฎหมายมีความมั่นคงแน่นอนและสามารถบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ เพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข

การจำแนกรูปแบบของระบบศาลในต่างประเทศสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระบบ คือ 1) ระบบศาลเดี่ยว เป็นระบบที่ศาลยุติธรรมมีอำนาจตีความกฎหมายและพิจารณาตัดสินคดีทุกประเภท ทั้งคดีอาญา คดีแพ่ง คดีปกครอง ฯลฯ ซึ่งเป็นระบบศาลที่นิยมใช้ในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบจารีตประเพณี (Common Law) เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น และ 2) ระบบศาลคู่ เป็นระบบศาลที่ให้อำนาจตัดสินคดีที่มีมากกว่าหนึ่งศาล กล่าวคือ เป็นระบบศาลที่มีศาลปกครองเป็นศาลพิเศษมีอำนาจพิจารณาคดีปกครองโดยเฉพาะแยกออกจากศาลยุติธรรม ซึ่งศาลยุติธรรมไม่ได้มีอำนาจในคดีทุกประเภทเหมือนระบบศาลเดี่ยว โดยระบบศาลดังกล่าวนิยมใช้ในประเทศแถบยุโรปที่ใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร (Civil Law) เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี เป็นต้น

ระบบศาลของประเทศไทยเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัยโดยมีพ่อขุนหรือกษัตริย์ทรงใช้อำนาจทางการศาลด้วยพระองค์เอง และมีผู้แทนพระองค์ที่เรียกว่า “ตระลาการ” ทำหน้าที่วางหลักเกณฑ์การพิจารณาและพิพากษาคดี ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยามีศาลเกิดขึ้นหลากหลายประเภท เช่น ศาลความอุทธรณ์หรือศาลหลวง ศาลอาชญาราษฎร์หรือศาลราษฎร์ ศาลอาชญาจักร ศาลแพ่งวัง ศาลแพ่งกลาง เป็นต้น และในสมัยรัตนโกสินทร์ได้มีการปฏิรูปการศาลไทยและสถาปนากระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบศาลใหม่ ยุบรวมและโอนศาลทั้งหลายมาสังกัดกระทรวงยุติธรรม ยกเว้นศาลทหารที่ยังคงสังกัดกระทรวงกลาโหม จนกระทั่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติให้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นเป็นครั้งแรกแยกออกจากศาลยุติธรรม จึงทำให้ระบบศาลไทยเปลี่ยนจากระบบศาลเดี่ยวเป็นระบบศาลคู่ เนื่องจากมีการแบ่งแยกขอบเขตอำนาจระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครองอย่างเด็ดขาด

ในปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้มี 4 ศาล ได้แก่ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลทหาร มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

  1. ศาลยุติธรรม เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น โดยโครงสร้างของศาลยุติธรรมแบ่งเป็น 3 ชั้น คือ
    1. 1) ศาลชั้นต้น ประกอบด้วย ศาลชั้นต้นทั่วไป และศาลชำนัญพิเศษ มี 5 ศาล ได้แก่ ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลภาษีอากร ศาลล้มละลาย ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และศาลแรงงาน
    2. 2) ศาลอุทธรณ์ ประกอบด้วย ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อยู่ในเขตอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์ และ
    3. 3) ศาลฎีกา เป็นศาลสูงสุดเพียงศาลเดียว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้เสนอต่อศาลฎีกาได้โดยตรง และพิจารณาคดีที่อุทธรณ์ ฎีกาคำพิพากษา คำสั่งของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาคตามที่กฎหมายกำหนด
  2. ศาลปกครอง เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากศาลยุติธรรม เนื่องจากศาลปกครองใช้ระบบไต่สวนในการดำเนินคดี กล่าวคือ ศาลปกครองมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงอื่นใดได้ โดยไม่จำเป็นต้องรับฟังเฉพาะคู่กรณีทั้งสองฝ่าย การใช้ระบบพิจารณาคดีดังกล่าวมีสาเหตุมาจากคดีปกครองซึ่งนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากการออกกฎเกณฑ์ หรือการออกคำสั่งของฝ่ายปกครองที่สามารถดำเนินการได้เองฝ่ายเดียว โดยไม่ได้อยู่บนหลักของความเสมอภาคกัน และพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่จะใช้ในศาลเกือบทั้งหมดอยู่ในความดูแลหรือครอบครองของฝ่ายปกครอง ดังนั้น หากการค้นหาข้อเท็จจริงยึดหลักเคร่งครัดว่าคู่กรณีต้องพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างของตนเช่นเดียวกับคดีในศาลยุติธรรม ย่อมไม่เป็นธรรมแก่คู่กรณีที่เป็นเอกชนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะฟ้องคดี ทั้งนี้ โครงสร้างของศาลปกครองแบ่งเป็น 2 ชั้น คือ 1) ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งจัดตั้งขึ้นในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใกล้เคียง และ 2) ศาลปกครองชั้นต้น ได้แก่ ศาลปกครองกลาง ซึ่งจัดตั้งขึ้นในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใกล้เคียง และศาลปกครองในภูมิภาค
  3. ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลที่ทำหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสถานะ “ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ” นอกจากนี้ ยังมีอำนาจและหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองค์กร โดยการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเป็นระบบไต่สวน กล่าวคือ ศาลมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ ซึ่งแตกต่างจากวิธีพิจารณาที่ใช้ในคดีทั่วไปของศาลยุติธรรม
  4. ศาลทหาร เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา วางบทลงโทษทหารที่กระทำความผิดต่อกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นในทางอาญา โดยแบ่งตามสถานการณ์ได้ 2 ประเภท ได้แก่ ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ หมายถึง ศาลทหารในภาวการณ์รบหรือการสงคราม หรือมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำให้ศาลทหารต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็วเด็ดขาดยิ่งกว่าในเวลาปกติ โดยมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาใด ๆ เพิ่มเติมอีกได้ตามที่ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้ประกาศไว้ และศาลทหารในเวลาปกติ หมายถึง ศาลทหารที่มีอยู่ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองมีความสงบไม่มีศึกสงคราม จะมีการพิจารณาพิพากษาคดีที่สามารถอุทธรณ์และฎีกาได้ แบ่งเป็น 3 ชั้นศาล ประกอบด้วย
    1. 1) ศาลทหารชั้นต้น เป็นศาลที่เทียบได้กับศาลชั้นต้นของศาลพลเรือนมี 4 ประเภท ได้แก่ ศาลทหารกรุงเทพ ศาลมณฑลทหาร ศาลจังหวัดทหาร และศาลประจำหน่วยทหาร
    2. 2) ศาลทหารกลาง เป็นศาลที่เทียบได้กับศาลอุทธรณ์ของศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารชั้นต้น และ
    3. 3) ศาลทหารสูงสุด เป็นศาลที่เทียบได้กับศาลฎีกาของศาลพลเรือน มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่มีการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลทหาร โดยคดีที่ศาลทหารสูงสุดได้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วถือว่าเป็นที่สุด 

กล่าวโดยสรุป ระบบศาลในประเทศไทยมีการจัดแบ่งประเภทอย่างชัดเจนสะท้อนให้เห็นถึงการได้รับอิทธิพลจากแนวคิดระบบศาลคู่ของต่างประเทศ ซึ่งการแบ่งขอบเขตอำนาจของแต่ละศาลเป็นอิสระจากกัน มีผู้พิพากษาหรือตุลาการของแต่ละศาลโดยเฉพาะ ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาคดีแต่ละประเภทได้รับการวินิจฉัยโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่มีความรู้ความเข้าใจกฎหมายและลักษณะคดีที่มีลักษณะเฉพาะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดด้วยวิธีพิจารณาที่เหมาะสม ดังนั้น การเสนอคดีต่อศาลจะต้องพิจารณาก่อนว่า เป็นคดีประเภทใดและอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด เพราะหากเสนอคดีไม่ถูกต้องตามระบบศาล ศาลนั้นย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวได้โดยชอบด้วยกฎหมาย 

ภาพปก