การท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism)

Script Writer
อนุชา ดีสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-11
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) คือ การท่องเที่ยวที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม
การท่องเที่ยวไทยตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ของภาครัฐ ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อลดผลกระทบจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการท่องเที่ยวรูปแบบดังกล่าวจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจของประเทศ และภาพลักษณ์ของประเทศ ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการมีส่วนบรรเทาก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ 2) ด้านการสร้างการรับรู้และตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3) ด้านการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวของไทยในตลาดโลก 4) ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศ 5) ด้านการสร้างโอกาสและการต่อยอดให้กับผู้ประกอบการและชุมชน และ 6) ด้านการดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความเข้าใจและสนใจการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์มีแนวทางสำคัญในการดำเนินการ คือ “Low Carbon” ได้แก่

1) Location กำหนดสถานที่เพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว

2) Objective ตั้งเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนกิจกรรมลดการปล่อยคาร์บอน

3) What is Carbon Footprint ทำความรู้จักและเข้าใจเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์

4) Collect Data เก็บข้อมูลกิจกรรมและปัจจัยในการคำนวณหาปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์

5) Approach คำนวณหาปริมาณการปล่อยคาร์บอนตามหลักการและขอบเขตสากล

6) Reduce ลดการปล่อยคาร์บอนหรือลดการใช้พลังงานในกิจกรรมท่องเที่ยว

7) Balance สร้างความสมดุลของการปล่อยคาร์บอน

8) Offset ชดเชยคาร์บอนส่วนเกินจากกิจกรรมท่องเที่ยวที่ไม่สามารถลดได้ และ

9) Neutrality สร้างคุณค่าให้กับการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ 

ปัจจุบันภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ดังนี้

  1. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้พัฒนาต้นแบบธุรกิจท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยการปรับและพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำสู่การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแบบเข้มข้น และชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยการจัดหาคาร์บอนเครดิต ซึ่งได้มาจากกิจกรรมฟื้นฟูและสร้างแหล่งดูดซับคาร์บอนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้เท่ากับศูนย์ ประกอบด้วยธุรกิจ 3 ประเภท คือ 1) ชุมชน ได้แก่ ชุมชนถ้ำเสือ จังหวัดเพชรบุรี และชุมชนริมคลองโฮมสเตย์ จังหวัดสมุทรสงคราม 2) ฟาร์มสเตย์ ได้แก่ ฟาร์มสเตย์ไร่ใจยิ้ม จังหวัดกาญจนบุรี และฟาร์มสเตย์ไร่คืนรัง จังหวัดนครราชสีมา และ 3) สมาร์ทฟาร์ม ได้แก่ สวนส้มโอไทยทวี จังหวัดนครปฐม 
  2. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดทำแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน “ZERO CARBON” จากโครงการการขับเคลื่อนและผลักดันการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เมื่อกรกฎาคม 2566 ซึ่งใช้ในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการชดเชยคาร์บอนจากกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
  3. คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ระหว่างปี พ.ศ. 2562-2566 ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ครั้งที่ 78 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม 2565 ณ อาคารรัฐสภา ซึ่งมีวาระการพิจารณา เรื่อง ทิศทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยปี พ.ศ. 2566 โดยคณะกรรมาธิการได้มีการเชิญหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมโรงแรมไทย (THA) และสมาคมสายการบินประเทศไทย มาร่วมประชุมชี้แจงและได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ว่า การบริหารจัดการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen Y ที่มีอายุระหว่าง 23-39 ปี และกลุ่ม Gen Z ที่มีอายุระหว่าง 22-10 ปี ดังนั้น ภาครัฐจึงควรมีแนวทางและมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการบริหารจัดการการท่องเที่ยวรูปแบบดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม เช่น องค์ความรู้ในการบริหารจัดการ งบประมาณ มาตรการทางภาษี เป็นต้น 

จะเห็นได้ว่าภาครัฐได้ร่วมกับขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างเป็นระบบและเป็นเอกภาพ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ ยังเป็นการส่งเสริมวิถีชุมชนและส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและความภาคภูมิใจของผู้คนในท้องถิ่นที่ได้ร่วมสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนให้กับชุมชนควบคู่กันไป 

ภาพปก