กฎหมายอ้อยและน้ำตาลทราย

Script Writer
วิริยะ คล้ายแดง, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-11
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

อ้อยเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำตาลทรายและพลังงานทดแทน นอกจากนี้ น้ำตาลทรายยังเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม กล่าวได้ว่าระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยมานานกว่า 40 ปีแล้ว เป็นแหล่งสร้างงานแก่ชาวไร่อ้อยและแรงงานเก็บเกี่ยวอ้อยในชนบทมากกว่า 600,000 คน มีโรงงานน้ำตาลทรายจำนวน 58 โรงงาน ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกและการจำหน่ายน้ำตาลทราย รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้ถึงปีละกว่า 250,000 ล้านบาท โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกสินค้าน้ำตาลทรายที่สำคัญของโลกมาอย่างต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมา ไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับสามของโลก รองจากบราซิลและอินเดีย

กฎหมายที่กำกับดูแลระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตั้งแต่การบริหารจัดการในไร่อ้อย การผลิตในโรงงานน้ำตาล และการส่งออก ตลอดจนการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล คือ พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2527 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รักษาการให้เป็นไปตามกฎหมาย พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มีบทบัญญัติ 11 หมวด 87 มาตรา มีสาระสำคัญ คือ กำหนดโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในระบบไตรภาคี มีผู้แทนส่วนราชการ ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล ประกอบกันอยู่ในรูปแบบคณะกรรมการ ได้แก่ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย คณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการอ้อย และคณะกรรมการน้ำตาลทราย โดยแต่ละคณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ต่าง ๆ ที่สอดคล้องกัน เพื่อจัดระเบียบต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ประกอบด้วย หลักเกณฑ์การปลูกอ้อย การกำหนดราคาอ้อย การผลิตน้ำตาลทราย ระเบียบการจัดจำหน่ายน้ำตาลทรายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และกำหนดอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน ตลอดจนการส่งเสริมหรือวิจัยเพื่อพัฒนาระบบอุตสาหกรรมให้เจริญก้าวหน้ามีเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ นับได้ว่าพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในการบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างเป็นระบบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถผลิตน้ำตาลทรายเพื่อบริโภคภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ และบริหารการส่งออกน้ำตาลทรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้กำหนดอัตราส่วนให้ชาวไร่อ้อยได้รับผลตอบแทนร้อยละ 70 โรงงานได้รับผลตอบแทนร้อยละ 30 ก่อให้เกิดความเป็นธรรมและส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายใช้บังคับมายาวนาน ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้นและอยู่ในกระแสโลกาภิวัฒน์ของระบบเศรษฐกิจและระบบสังคมของโลก ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศจนเป็นเหตุให้มีการร้องเรียนว่าขัดต่อข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก ตลอดจนก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติที่ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่เอื้อต่อการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 โดยมีการตราพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2565 มีสาระสำคัญ เช่น เพิ่มบทบัญญัติให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การจำหน่ายน้ำตาลทราย การนำเข้าน้ำตาลทราย การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น และที่มาของเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดสรรเงินเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อไม่ให้ขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศและเพื่อประโยชน์ต่อชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลทราย ผู้บริโภค และระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ดังนั้น อ้อยจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีกฎหมายทำหน้าที่ควบคุมและแทรกแซงเพื่อสนับสนุนชาวไร่อ้อยและโรงงานอย่างเป็นระบบ มีการคุ้มครองสิทธิ ผลประโยชน์ และความช่วยเหลือจากรัฐ ตั้งแต่ต้นทาง การบริหารจัดการในไร่อ้อย การผลิตในโรงงานไปจนถึงปลายทางที่การจัดสรรเงินรายได้จากการขายน้ำตาลทรายทั้งในและนอกประเทศ จึงทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยและกำลังการผลิตของโรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามศักยภาพของทั้งสองฝ่าย และยังเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและเป็นธรรมแก่ชาวไร่อ้อย โรงงาน และประชาชนผู้บริโภคตามที่กฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายบัญญัติไว้

ภาพปก