แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565–2570)

Script Writer
อัญชลี จวงจันทร์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-10
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) หมายถึง เทคโนโลยีการสร้างความสามารถให้แก่เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ ด้วยอัลกอริทึมและกลุ่มเครื่องมือทางสถิติ เพื่อสร้างซอฟต์แวร์ทรงปัญญาที่สามารถเรียนรู้ เลียนแบบความสามารถของมนุษย์ที่ซับซ้อนได้ โดยการสร้างเครื่องจักรให้มีคุณลักษณะทางด้านสติปัญญาและความฉลาดเหมือนมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการคิดได้แบบมนุษย์ การกระทำได้แบบมนุษย์ การคิดอย่างมีเหตุผล และการกระทำอย่างมีเหตุผล ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ การสร้างองค์ความรู้ในเชิงโมเดลทางคณิตศาสตร์จากข้อมูลป้อนเข้าด้วยตัวเครื่องจักรเองที่สามารถใช้ทำนายอนาคตได้ และโมเดลที่ถูกสร้างขึ้นจะมีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวเข้ากับข้อมูลใหม่ ๆ ที่ได้รับการป้อนเข้าไป ในบางกรณีอาจไปถึงขั้นเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มีบทบาทร่วมขับเคลื่อนภารกิจในแต่ละภาคส่วน ซึ่งจะช่วยยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายประเทศและตอบโจทย์มิติของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ถูกตั้งไว้

ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และมีการส่งเสริมการสร้างความสามารถทางเทคโนโลยี AI เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาของประเทศเกิดความตระหนักในความสำคัญของการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ มียุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อมเพื่อตอบรับกับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยี AI แบบบูรณาการ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ได้ร่วมกันดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565–2570) ซึ่งสร้างวิสัยทัศน์เพื่อให้ประเทศเกิดระบบนิเวศที่ครบถ้วนและเชื่อมโยงแบบบูรณาการ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และมีเป้าหมายเพื่อสร้างคนและเทคโนโลยี สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญ 5 ประการ คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 จริยธรรมและกฎระเบียบ AI คือ การพัฒนาข้อกำหนดกฎหมาย มาตรฐานและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ AI ของประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 โครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI สร้างเครือข่ายเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การพัฒนาศูนย์เชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางระดับประเทศเชิงบูรณาการ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลและคำนวณขั้นสูง

ยุทธศาสตร์ที่ 3 กำลังคนด้าน AI คือ การพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ทุกระดับการเรียนรู้ การสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรสู่ภาคธุรกิจ และการพัฒนากลไกความร่วมมือกับนักวิจัย

ยุทธศาสตร์ที่ 4 วิจัยพัฒนาและนวัตกรรม AI คือ การส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่กลุ่มสาขาเป้าหมายสำคัญ การพัฒนาเทคโนโลยีฐาน (Core tech) และการวิจัยเพื่อสนับสนุนแพลตฟอร์มด้านปัญญาประดิษฐ์

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมธุรกิจและการใช้ AI คือ การส่งเสริมการใช้ AI ในภาครัฐ การส่งเสริมการใช้ AI ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การส่งเสริมอุตสาหกรรมเชื่อมโยง AI สู่การใช้งาน และการพัฒนากลไก และ Sandbox เพื่อนวัตกรรมทางธุรกิจและ AI Startup โดยผลการศึกษาด้านความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับบริการดิจิทัลอย่างมีธรรมาภิบาล ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พบว่าสถานการณ์การประยุกต์ใช้ AI ในองค์กรต่าง ๆ มีสัดส่วนของหน่วยงานที่ใช้แล้วและมีแผนที่จะใช้รวมกันถึงร้อยละ 71.8 กล่าวคือ มีหน่วยงานที่ใช้ AI แล้ว จำนวน 86 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 15.2 มีแผนที่จะใช้ AI จำนวน 320 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 56.6 และมีหน่วยงานจำนวน 159 หน่วยงาน ที่ต้องการการสนับสนุนด้าน AI คิดเป็นร้อยละ 28.2  

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565–2570) โดยนับตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป จะมีการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ คือ การจัดให้มีกิจกรรมการสร้างความตระหนักด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล AI ให้กว้างขวางมากขึ้น รวมถึงมีการยกระดับศูนย์ธรรมาภิบาล AI เพื่อให้คำปรึกษาด้าน AI ทั้งในระดับพื้นฐาน เช่น การให้ความรู้หรือการตอบคำถามทั่วไปด้าน AI และในระดับเฉพาะทางเทคนิคหรือความรู้เฉพาะด้าน เช่น ด้านมาตรฐานของการใช้งาน AI และด้านการพัฒนาธรรมาภิบาล AI ในองค์กร การสนับสนุนภาคธุรกิจในการนำบริการด้าน AI มาจัดให้บริการ โดยมุ่งให้เป็นช่องทางและแหล่งรวมบริการด้าน AI ที่สืบค้นได้สะดวกและขยายจากเดิมที่ AI Service Platform เริ่มจากนำบริการ AI ของภาครัฐมาจัดให้บริการบนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ภาครัฐ (GDCC) การพัฒนาบุคลากร AI ในระดับกลางและสูง (AI Talent) รวมทั้งมีแผนงานโครงการเสนอไปยังคณะกรรมการ AI แห่งชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรด้าน AI เพิ่มเติมจากกิจกรรมการส่งเสริมการนำปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ (AI Engineer) ซึ่งเดิมได้ดำเนินการโดยสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) ที่เป็นรูปธรรม แต่ยังไม่สามารถเพิ่มวิศวกรด้าน AI ได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีแผนการพัฒนาบุคลากรในกลุ่มสายงานสนับสนุน (AI Supporting Staff) ให้มีความรู้เกี่ยวกับการจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การสนับสนุนการใช้งานเครื่องมือ AI ที่มีความแพร่หลายมากขึ้นในด้านวิจัยและพัฒนา AI ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดนวัตกรรมด้าน AI ที่สร้างผลกระทบสูงต่อภาคอุตสาหกรรม เพิ่มเติมจาก 3 กลุ่มเศรษฐกิจนำร่อง (เกษตร สุขภาพ/การแพทย์ และภาครัฐ) นอกจากนั้น ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้งาน AI ร่วมขับเคลื่อน TECH Startup เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและการสร้างสรรค์งานบริการด้าน AI ในประเทศให้เพิ่มขึ้น โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและสมาคมภาคเอกชนต่าง ๆ เพื่อผสานพลังในการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อประเทศไทย

ภาพปก