บทบาทกระทรวงการต่างประเทศของไทย กรณีปัญหาวิกฤตในประเทศเมียนมา

Script Writer
ยุทธพงศ์ ปิ่นอนงค์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-10
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

จากปัญหาวิกฤตทางการเมืองในประเทศเมียนมาส่งผลกระทบต่อประเทศไทยที่เห็นได้ชัดเจน คือจำนวนผู้อพยพตามแนวชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา ซึ่งมีเขตติดต่อกันเกือบ 2,401 กิโลเมตร ด้วยปัญหาความไม่สงบในประเทศเมียนมาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้มีผู้อพยพจากฝั่งประเทศเมียนมา เข้ามายังฝั่งประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศไทยต้องแบกรับภาระจำนวนผู้อพยพในหลายพื้นที่ตลอดแนวชายแดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากการค้าขายระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมาเป็นจำนวนมาก ตลอดจนปัญหาการเพิ่มจำนวนยาเสพติดทวีความรุนแรงมากขึ้น

ดังนั้น เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2564 สมาชิกในกลุ่มอาเซียนได้มีมติเอกฉันท์ร่วมกันว่าด้วยเรื่องฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตในประเทศเมียนมา อันได้แก่

  1. 1. การยุติความรุนแรงในเมียนมาจะต้องมีขึ้นโดยทันที
  2. 2. การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกอย่างสันติ
  3. 3. ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน 
  4. 4. อาเซียนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาผ่านศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและจัดการด้านภัยพิบัติ (Asean Coordination Centre for Humanitarian Assistance on disaster management: AHA Centre)
  5. 5. ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนและคณะจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 

สำหรับบทบาทของประเทศไทยต่อกรณีความไม่สงบในประเทศเมียนมาในช่วงเวลานั้น นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่ในฐานะทูตที่เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะตลอดระยะเวลาตั้งแต่รัฐบาลทหารเมียนมาทำการรัฐประหาร จนถึงช่วงสุดท้ายในตำแหน่งรัฐบาลรักษาการได้มีแนวทางในการดำเนินการทางการทูตเชิงป้องกันในลักษณะที่ยืดหยุ่น เพื่อช่วยทำให้การทำงานด้านประสานงานและการสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาในประเทศเมียนมา โดยมีการนำเสนอต่อที่ประชุมอาเซียนว่าด้วยการจัดตั้งกลุ่มเพื่อนประธาน (Friends of the Chair) ยึดหลักแนวทาง D4D ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ดังนี้

  1. 1. การยุติความรุนแรง (De-escalation violence) กล่าวคือ ต้องการให้ทุกฝ่ายในประเทศเมียนมาหันหน้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยสันติวิธี
  2. 2. การจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Delivery of Humanitarian Assistance) ถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือในเหตุการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยธรรมชาติ ตลอดจนในภาวะความรุนแรงทางการเมืองในประเทศเมียนมา
  3. 3. การหารือโดยสันติ (Dialogue) 
  4. 4. การปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง (Discharge of Detainees) โดยให้ทางรัฐบาลทหารเมียนมาต้องปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสุดท้ายของความสงบสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)

การดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศของไทยต่อปัญหาประเทศเมียนมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 77 เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2564 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ความในตอนหนึ่งเกี่ยวกับกรณีปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศเมียนมาที่น่าสนใจ ดังนี้ 

“ประเทศไทยต้องการให้สถานการณ์ในประเทศเมียนมากลับสู่สันติภาพและมีเสถียรภาพโดยเร็ว จึงได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในประเทศเมียนมาเร่งหาทางคลี่คลายสถานการณ์ ยุติความรุนแรง และร่วมพูดคุยกันอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสันติ สนับสนุนเต็มที่เพื่อให้อาเซียนมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์และเชื่อว่าอาเซียนมีความพร้อมที่สุดในการช่วยเหลือประเทศเมียนมาผ่านแนวปฏิบัติของอาเซียนว่าด้วยคำปรึกษา ความร่วมมือ และหลักฉันทามติ ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ ประเทศไทยจึงพร้อมมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการสนับสนุนกระบวนการของอาเซียน ตลอดจนบทบาทของผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องประเทศเมียนมาด้วยเช่นนี้ต่อไป”

จะเห็นว่าบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการแก้ไขปัญหาวิกฤตในประเทศเมียนมานั้น ได้ใช้วิธีการทูตเชิงป้องกันที่มีลักษณะยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหา โดยอาศัยฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อเป็นการช่วยเหลือและเอื้อประโยชน์ต่อการเจรจาด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกันและต้องเกิดขึ้นอย่างจริงใจ เพื่อให้ทุกฝ่ายของสมาชิกในกลุ่มอาเซียนเข้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกันหาทางออกทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป 

ภาพปก