ขยะอวกาศ : ภัยคุกคามจากนอกโลก

Script Writer
ณิชชา บูรณสิงห์, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-10
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การพัฒนาของเทคโนโลยีอวกาศเป็นความสามารถของมนุษย์ในการออกแบบและสร้างเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้แก่ ดาวเทียม จรวด ยานอวกาศ ยานสำรวจ กล้องโทรทัศน์อวกาศ สถานีอวกาศ สถานีควบคุมดาวเทียม รวมไปถึงอุปกรณ์เพื่อการดำรงชีวิตของนักบินอวกาศ ปัจจุบันหลายประเทศมีการดำเนินโครงการอวกาศเพิ่มขึ้น จึงทำให้เกิดขยะอวกาศลอยอยู่ในวงโคจรโลกจำนวนมาก และกำลังกลายเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้โลก ทั้งนี้ ขยะอวกาศ (Space Debris) หมายถึง สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและถูกทิ้งไว้โดยไม่ใช้งานแล้วในวงโคจรรอบโลก ได้แก่ ดาวเทียมเก่าที่หมดอายุ ท่อนจรวดนำส่งดาวเทียม ยานอวกาศ ฝาครอบดาวเทียมส่วนหัวจรวด นอต ข้อต่อ และชิ้นส่วนต่าง ๆ ของจรวด กากเชื้อเพลิงที่หลงเหลือตกค้าง ของเสียซึ่งทิ้งออกจากยานอวกาศ รวมทั้งเศษชิ้นส่วนที่เกิดจากการพุ่งชนกันเองของขยะอวกาศ 

ขยะอวกาศมีความเสี่ยงสูงที่จะพุ่งชนดาวเทียมสำคัญต่าง ๆ ให้ได้รับความเสียหายและหยุดทำงาน ปัญหาดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อโลก ศาสตราจารย์มอริบา จาห์ และทีมงานจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส จึงสร้างแผนที่ Astria Graph เพื่อติดตามการเคลื่อนตัวของวัตถุทุกชนิดที่ลอยอยู่ในวงโคจร ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติออกคำสั่งให้ทุกบริษัทต้องกำจัดดาวเทียมของตนออกจากวงโคจรโลกภายใน 25 ปี หลังจากปลดระวางแล้ว นอกจากนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาได้จัดทำเว็บไซต์แผนที่ชื่อ “Astria Graph” มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาคมโลกคำนึงถึงอันตราย และติดตามสถานะของวัตถุที่มีอยู่บนวงโคจรโลก ซึ่งมีการติดตามวัตถุกว่า 26,000 ชิ้น บนวงโคจรมีขนาดตั้งแต่เท่ากับสมาร์ตโฟนไปจนถึงเท่ากับสถานีอวกาศ นอกจากนี้ มีดาวเทียมที่ใช้งานประมาณ 3,500 ดวง ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนจรวดส่งดาวเทียมที่ใช้แล้วในอดีต ซึ่งอาจเกิดการระเบิด หรือชนกับขยะชิ้นอื่น ๆ ทำให้กลายเป็นขยะชิ้นเล็ก ๆ ที่พุ่งชนชิ้นอื่น ๆ และมีการแตกออกไปเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration) หรือองค์การนาซา (NASA) ระบุว่า ขยะอวกาศแต่ละชิ้นที่อยู่บนวงโคจรมีการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงเกือบ 29,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คิดเป็น 7 เท่าของความเร็วกระสุนปืนบนโลก ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และชาติสหภาพยุโรป กำลังหาทางเพื่อกำจัดขยะอวกาศ โดยมีการคิดค้นการใช้แขนหุ่นยนต์แม่เหล็กส่งออกไปนอกอวกาศ เพื่อดักจับขยะอวกาศทีละชิ้น ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์สามารถควบคุมปริมาณขยะอวกาศที่โคจรอยู่รอบโลกได้ รวมถึงสหรัฐอเมริกามีการจัดบุคลากรทำหน้าที่ในศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ดของนาซาในรัฐแมริแลนด์ และมีตำรวจจราจรอวกาศคอยเฝ้าระวังขยะอวกาศ และแจ้งเหตุจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายดาวเทียมเพื่อหลบวัตถุอันตรายที่กำลังจะพุ่งชน 

ปัญหาขยะอวกาศเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากมีการดำเนินการโครงการสำรวจอวกาศที่สำคัญ คือ “ดาวเทียม” มาใช้ประโยชน์ในหลายกิจกรรม เช่น การสื่อสาร การสำรวจทางธรณีวิทยา การทหาร การเกษตร อุตุนิยมวิทยา การวางผังเมือง และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น เพื่อนำข้อมูลมากำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ แต่การดำเนินการดังกล่าวทำให้เกิดขยะอวกาศอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หลายประเทศจึงรวมกันหาแนวทาง หรือมาตรการเฝ้าระวังทิศทางการโคจรของขยะอวกาศไม่ให้พุ่งชนกับดาวเทียมหรือยานต่าง ๆ รวมถึงพยายามคิดค้นเทคโนโลยีหลากหลายวิธีที่จะจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดขยะอวกาศให้น้อยที่สุด และเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. .... ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนั้น หากมีการพัฒนากฎหมายและเทคโนโลยีอวกาศให้สอดคล้องกับแนวทางของกิจการอวกาศสากล จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยในระดับสากล และสิ่งสำคัญทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีมาสู่บุคลากรภายในประเทศไทย สร้างรายได้ และการจ้างงานในอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งที่ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนด้านกิจการอวกาศของประเทศต่อไป

ภาพปก