ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

Script Writer
คณาธิป ไกยชน, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-10
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

พจนานุกรมไทยได้อธิบายความหมายของคำว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ไว้ว่า “ศักดิ์ศรี” หมายถึง เกียรติศักดิ์ ซึ่งคำว่า “เกียรติ” หมายถึง ชื่อเสียง การยกย่องนับถือ และคำว่า “ศักดิ์” หมายถึง อำนาจ ความสามารถ กำลัง ฐานะ ซึ่งสอดคล้องกับคำว่า “Dignity” ในภาษาอังกฤษที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน คือ Dignitas หมายถึง เกียรติยศหรือความมีชื่อเสียง ดังนั้น ความหมายของคำว่า “ศักดิ์ศรี” ทั้งของไทยและต่างประเทศจึงไม่แตกต่างกัน ในอดีตศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงยึดติดกับเกียรติยศของบุคคล ต่อมามีการตีความเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การที่มนุษย์มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุและผล สามารถแยกแยะดีและชั่วได้ ไม่ได้ถือเอายศถาบรรดาศักดิ์เหมือนในอดีต สะท้อนให้เห็นว่าการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในยุคปัจจุบันนั้น เป็นการมองที่คุณค่าของความเป็นมนุษย์เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผลตามธรรมชาติ จึงกล่าวได้ว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือ คุณค่าที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ซึ่งเป็นคุณค่าเฉพาะตัวอันมีที่มาจากความเป็นมนุษย์ ประกอบด้วยชีวิต ร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา กล่าวคือ มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล ความมีเหตุผลของมนุษย์ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองได้และทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากผู้อื่น เมื่อมนุษย์มีคุณค่าจึงมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นหลักการสูงสุดที่มวลมนุษยชาติควรเคารพ 

จากหลักการดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประกอบด้วยรากฐานอันเป็นสาระสำคัญที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ 2 ประการ คือ สิทธิในชีวิตร่างกายและสิทธิในความเสมอภาค โดยสิทธิในชีวิตและร่างกาย เป็นสิ่งที่ติดตัวบุคคลมาตั้งแต่เกิดเป็นสิทธิของปัจเจกบุคคลที่มีอยู่ในสภาวะธรรมชาติ สิทธิดังกล่าวไม่อาจจะพรากไปจากบุคคลได้ ในขณะเดียวกันบุคคลอาจได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐด้วยบทบัญญัติของกฎหมายได้ ส่วนสิทธิในความเสมอภาค เป็นการรับรองว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น แม้ว่ามนุษย์จะมีสิทธิในชีวิตและร่างกายของตน แต่หากขาดหลักประกันในเรื่องความเสมอภาคแล้ว บุคคลอาจได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกับบุคคลอื่นในสังคม หรืออาจถูกเลือกปฏิบัติจากผู้ใช้อำนาจรัฐได้

ประเทศไทยเริ่มมีการบัญญัติคำว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 อันมีที่มาจากบริบทของกฎหมายระหว่างประเทศ ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2535 ทำให้รัฐต้องตรากฎหมายในระดับรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นการรับรองคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

  1. 1. ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งมาตรา 4 วรรคหนึ่ง วางหลักไว้ว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” แสดงให้เห็นว่าทั้งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเป็นคุณค่าที่อยู่ในระนาบเดียวกันหรือมีคุณค่าในระดับเดียวกัน และเนื่องจากมาตรา 4 ดังกล่าวอยู่ในหมวด 1 บททั่วไป ซึ่งเป็นหมวดที่กำหนดหลักการทั่วไปของรัฐ ถือว่าเป็นสาระสำคัญที่มีลักษณะทั่วไป อันเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของรัฐที่จะให้ความรับรองคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล โดยจะต้องนำเนื้อหาสาระของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาประกอบการตีความสิทธิขั้นพื้นฐานอื่น ๆ ด้วย
  2. 2. ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยมาตรา 26 วรรคหนึ่ง วางหลักไว้ว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีการใช้คำว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” แทนคำว่า “สาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ” ที่ปรากฏในมาตรา 29 วรรคแรกของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะแท้จริงแล้วสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ คือ สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ หรือที่เรียกว่า สิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสารัตถะอันเป็นรากฐานสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยการออกกฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจะกระทบกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ได้ สะท้อนให้เห็นว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่เหนือกว่าสิทธิและเสรีภาพ รัฐสามารถจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลได้ แต่ไม่สามารถจำกัดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้

นอกจากนี้ บทบัญญัติในมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยมาตรา 25 วรรคแรก วางหลักไว้ว่า “สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น” และมาตรา 25 วรรคสาม วางหลักไว้ว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้” ซึ่งเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย แม้จะไม่ปรากฏคำว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ในบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมไม่ได้หมายความว่า บุคคลใดที่ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้วจะไม่สามารถใช้สิทธิในทางศาลได้ เพราะยังสามารถใช้บทบัญญัติในมาตรา 4 ซึ่งเป็นบททั่วไปที่กำหนดให้มีการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้แล้ว และยังเป็นการวางหลักทั่วไปในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในมาตราอื่น ๆ รวมทั้งมาตรา 25 ในรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งจะต้องยึดถือ คำนึงถึงและปฏิบัติตามในเรื่องการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย

ภาพปก