มาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการ

Script Writer
พิธุวรรณ กิติคุณ, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-11
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ระบบราชการถือเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งในการบริหารและปกครองประเทศ โดยมีข้าราชการเป็นฟันเฟืองและเป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างผู้บริหารประเทศกับประชาชน ข้าราชการจึงถือเป็นกําลังสําคัญในการขับเคลื่อนระบบราชการให้สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชน โดยมุ่งเน้นเป้าหมายสูงสุด คือ ความอยู่ดีกินดีของประชาชน การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการจึงจําเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ซื่อสัตย์ สุจริต ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศเป็นสําคัญ

การปฏิบัติงานของข้าราชการ จึงจําเป็นต้องมีกลไกที่สําคัญในการควบคุมการทํางาน และสิ่งสําคัญที่ช่วยควบคุมการทํางานของข้าราชการสิ่งหนึ่ง คือ คุณธรรมจริยธรรมของข้าราชการ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 76 วรรคสาม ได้บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้น ๆ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว ประกอบกับพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 5 ได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อใช้เป็นหลักสำคัญในการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ โดยมาตรฐานทางจริยธรรม ประกอบด้วย

  1. 1) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 
  2. 2) ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่ 
  3. 3) กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม 
  4. 4) คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ 
  5. 5) มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน 
  6. 6) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ 
  7. 7) ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ

ทั้งนี้ ข้าราชการแต่ละประเภทมีมาตรฐานทางจริยธรรมที่กำหนดเอาไว้ในประมวลจริยธรรม เช่น ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ประมวลจริยธรรมข้าราชการรัฐสภา ประมวลจริยธรรมข้าราชการกรุงเทพมหานคร ประมวลจริยธรรมพนักงานส่วนท้องถิ่น เป็นต้น  

อนึ่ง การที่ข้าราชการยึดถือมาตรฐานทางจริยธรรมเป็นหลักเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติตนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ถือเป็นการพัฒนาข้าราชการให้ตระหนักในการเป็นข้าราชการที่มีเกียรติศักดิ์ศรี รู้จักความพอเพียง ยึดมั่นในคุณธรรม ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง ตระหนักในคุณความดี ซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เป็นตัวอย่างการประพฤติที่ดีงามแก่สังคม และส่งผลให้เกิดการปฏิบัติราชการแผ่นดินในส่วนที่ตนรับผิดชอบเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน 

ภาพปก