การลดอุบัติเหตุทางถนน

Script Writer
บูชิตา ไวทยานนท์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-08
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดในโลก ความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนต่อปีมีผู้เสียชีวิตมากกว่าหมื่นราย ซึ่งส่งผลให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน ในปี 2566 องค์การอนามัยโลกได้รายงานผลความปลอดภัยทางถนนของโลก ได้รายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน พบว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการบาดเจ็บทางถนนกว่า 1.9 ล้านรายต่อปี คิดเป็นอัตรา 15 ต่อประชากร การบาดเจ็บทางถนนยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 1 ของช่วงอายุ 5–29 ปี  สำหรับประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน จำนวน 18,218 คน โดยมีอัตราการเสียชีวิตทางถนนอยู่ที่ 25 คนต่อประชากร 1 แสนคน โดยสัดส่วนการเสียชีวิตส่วนมากจะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์ คิดเป็นร้อยละ 74.4

รัฐบาลไทยได้กำหนดนโยบายด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุในการจราจรด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ในการตรวจจับเพื่อป้องกัน การรายงาน และการดูแลผู้บาดเจ็บ โดยขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมกันดำเนินมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจัง ตามกรอบทศวรรษความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็นเมืองปลอดภัย Safety Thailand โดยมีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นองค์กรหลักของรัฐบาลในการบูรณาการการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง กำหนดกรอบในการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล โดยปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุได้เป็น 3 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยด้านผู้ขับขี่ ปัจจัยด้านยานพาหนะ และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม โดยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่มีมากที่สุด 3 ลำดับแรก ยังเป็นสาเหตุที่มาจากผู้ขับรถ ได้แก่ ขับรถด้วยความเร็ว ขับรถตามหลังในระยะกระชั้นชิด และขับรถตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด 

แนวทางการลดอุบัติเหตุทางถนนของไทยสอดคล้องกับบริบทเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าประสงค์ 3.6 ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก รัฐบาลจึงจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังในทุกระดับ ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ ผ่านการประชาสัมพันธ์องค์ความรู้การลดอุบัติเหตุทางถนนที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้และมีคุณภาพ 

ประเด็นแรก เป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งหากต้องการลดอุบัติเหตุทางถนนภาครัฐควรจะมีการออกแบบการขนส่งสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานของการใช้ระบบขนส่งทุกรูปแบบที่มีความปลอดภัยและเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น มีการปรับโครงสร้างการคมนาคมของประเทศให้เอื้อต่อระบบขนส่งสาธารณะหรือขนส่งมวลชนเป็นหลัก เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะและในระดับราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง เมื่อระบบขนส่งมวลชนครอบคลุมในทุกพื้นที่และมีราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ การใช้รถส่วนบุคคลก็จะลดลงตามลำดับ ทำให้มีจำนวนยานพาหนะบนท้องถนนที่จะนำไปสู่การลดความรุนแรงและการเกิดอุบัติเหตุทางถนนน้อยลงด้วย จากการจำกัดความเร็วและช่องทางที่จัดสรรให้กับรถโดยสารสาธารณะที่เพียงพอและเหมาะสม รวมไปถึงการผสมผสานลักษณะด้านความปลอดภัยทางถนนให้เหมาะสมกับการวางแผนการใช้ที่ดิน และการวางแผนระบบขนส่งเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยานพาหนะ โดยการออกแบบถนนให้เอื้อต่อกลุ่มผู้เปราะบางทางถนน อันเป็นกลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ให้มีพื้นที่และการเข้าถึงการให้บริการทางถนน เช่น การออกแบบฟุตบาทสำหรับคนเดินเท้า หรือช่องทางสำหรับผู้ขับขี่รถจักรยาน เป็นต้น ให้มีจำนวนมากขึ้นและมีพื้นที่ที่กว้างขึ้น 

ประเด็นที่สอง ความเข้มงวดและความต่อเนื่องในการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างจริงจัง เพื่อสร้างพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ผู้โดยสารและผู้ใช้ถนน จนกลายเป็นวัฒนธรรมการขับขี่ยานยนต์บนท้องถนนของประชาชน ให้เป็นไปตามบัญญัติกฎหมาย เป็นวัฒนธรรมของการใช้ถนนของคนไทย เพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้ในผลกระทบของการไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ ได้แก่ การตั้งด่านตรวจแอลกอฮอล์ การตรวจจับวัดความเร็ว หรือด่านตรวจอื่น ๆ รวมถึงภาครัฐควรมีการให้คำแนะนำ ข้อจำกัดต่าง ๆ กับประชาชนเกี่ยวกับเขตการขับขี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในใจกลางเมือง โดยให้ความเท่าเทียมกันในการปฏิบัติตามข้อบังคับทางกฎหมายอย่างเที่ยงธรรม ประชากรทั้งหมดและตำรวจทำหน้าที่ให้การดูแลคุ้มครองความเรียบร้อยและปลอดภัยบนท้องถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กฎหมายหลักในการควบคุมและป้องกันอุบัติเหตุทางถนนของไทย จำนวน 4 ฉบับ คือพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท

ประเด็นที่สาม ระบบการศึกษาไทยยังไม่มีการให้ความรู้และการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทางเดินสำหรับคนเดินเท้า การใช้รถจักรยาน การใช้รถจักรยานยนต์ หรือพาหนะอื่น ๆ ที่สามารถปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการเดินทางและการใช้ถนนร่วมกันเกิดขึ้น โดยการปลูกฝังตั้งแต่ระดับปฐมวัยในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและสร้างการตระหนักรู้ที่ถูกต้องให้กับเยาวชนผู้ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า และการให้การศึกษาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายอันเป็นกุญแจสำคัญ ตลอดจนการให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ประเด็นที่สี่ การวิจัยและการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับการจราจรและการขับขี่ยานยนต์ ตลอดจนการติดตามและประเมินผลของการปรับใช้นวัตกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนน การออกแบบเส้นทางจราจร สัญลักษณ์หรืออุปกรณ์ทุกประเภทสำหรับการจราจรเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ การออกแบบยานยนต์โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นและการลดแรงกระแทกจากการเกิดอุบัติเหตุ การออกแบบเทคโนโลยีการติดตามและเฝ้าระวังพฤติกรรมการขับขี่ยานยนต์ของผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะในตำแหน่งที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทั้งนี้ หากมีการประยุกต์ใช้นวัตกรรม และมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องจะสามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รัฐบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินการเพื่อยกความปลอดภัยทางถนนให้เป็นประเด็นที่ได้รับความสำคัญในลำดับต้นของการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน อาทิ หน่วยงานการขนส่ง หน่วยงานตำรวจ หน่วยงานด้านสุขภาพ หน่วยงานด้านการศึกษา และการดำเนินการเกี่ยวกับความปลอดภัยของยานพาหนะและของผู้ใช้รถใช้ถนน เช่น การทำงานร่วมกันของหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อกำหนดเขตพื้นที่และเวลาจำกัดความเร็วใกล้สถานศึกษา เป็นต้น

ภาพปก