เมื่อองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลกอย่าง สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum)ได้เผยแพร่รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2567 หรือ Global Risks Report 2024 ซึ่งเป็นรายงานฉบับที่ 19 ที่ได้จัดทำและเผยแพร่อย่างต่อเนื่องทุกปี โดยรายงานดังกล่าวเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ จากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จำนวน 1,490 รายทั่วโลก เพื่อจัดเก็บข้อมูลความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในกรอบระยะเวลา 10 ปี ซึ่งสภาเศรษฐกิจโลกได้นิยามความหมายของความเสี่ยงของโลก (Global Risk) ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอน หรือเงื่อนไขที่หากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของโลก ประชากร หรือทรัพยากรธรรมชาติ โดยในรายงาน World Economic Forum ได้วิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงไว้จำนวน 5 มิติ ประกอบด้วย
ทั้งนี้ ความเสี่ยงมิติสิ่งแวดล้อมถูกจัดอันดับเป็นความเสี่ยงโลกที่มีแนวโน้มจะรุนแรงในระยะยาวอีก 10 ปีข้างหน้าถึง 5 อันดับ จาก 10 อันดับ ได้แก่
อันดับ 1 ความเสี่ยงจากเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว โดยผู้ตอบแบบสำรวจถึงร้อยละ 66 เห็นว่า เป็นความเสี่ยงของโลกที่สำคัญที่สุดในปี พ.ศ. 2567 โดยในช่วงที่ผ่านมาโลกต้องเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งคาดว่ายังคงส่งผลกระทบจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 และทำให้เกิดปัญหาภาวะความแห้งแล้ง ไฟป่าและน้ำท่วมในระดับที่รุนแรงมากขึ้น
อันดับ 2 การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อระบบโลก ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ถูกจัดอันดับเข้ามาใหม่ในปีนี้
อันดับ 3 ความเสี่ยงจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ (biodiversity loss and ecosystem collapse)
อันดับ 4 การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ และ
อันดับ 10 มลพิษในอากาศ น้ำ ดิน
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตามกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียพบว่า ความเสี่ยงในมิติสิ่งแวดล้อมเป็นความเสี่ยงที่มีผลกระทบรุนแรงในระยะยาว เห็นได้จากความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมติดอยู่ในอันดับ 1 ถึง 4 ของผู้มีส่วนได้เสียเกือบทุกกลุ่ม
ในส่วนของประเทศไทย จากรายงาน World Economic Forum's 2023 Executive Opinion Survey (EOS) ซึ่งเป็นแบบสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารในประเทศที่จัดทำขึ้นระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม พ.ศ. 2566 ในหัวข้อ “ความเสี่ยง 5 ประการที่คุณคิดว่าจะเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อประเทศของคุณในอีกสองปีข้างหน้า” ซึ่งกลุ่มตัวอย่างลงความเห็นให้ภัยคุกคามอันดับที่ 2 คือ ปัญหามลพิษในอากาศ น้ำ และดิน (Pollution) โดยระบุว่า ปีที่ผ่านมาประเทศต้องเผชิญกับปัญหามลพิษโดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ซึ่งถือเป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่ร้ายแรงในประเทศไทยถึงขั้นที่ภาครัฐต้องประกาศให้ประชาชนในเมืองขนาดใหญ่ อาทิ กรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ ให้อยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน (Work From Home) และหยุดเรียน ประกอบกับข้อมูลของวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับบริษัท มาร์เก็ตบัซซ์ จำกัด จัดทำการสำรวจ “5 อันดับแรกของความกังวลต่อสาธารณะ” ผลการสำรวจล่าสุดในปี พ.ศ. 2567 มีผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 1,000 คน ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 พบว่า “ประเด็นสิ่งแวดล้อม” ยังคงติดอันดับสิ่งที่คนไทยกังวลมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 30 โดยจากข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ความกังวลของคนไทยด้านสิ่งแวดล้อมยังทวีความรุนแรงขึ้น สูงถึงร้อยละ 74 ที่มีความรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2565 (ร้อยละ 62) ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนร้อยละ 37 ยังมีความกังวลว่า สภาพแวดล้อมจะเลวร้ายลงไปอีกใน 5 ปีข้างหน้า และถึงแม้จะมีความกังวลแต่กลับพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยพฤติกรรมที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พบมากที่สุด คือ ไม่สนับสนุนการซื้อขาย บริโภคสินค้าของป่า ของลักลอบหรือผิดกฎหมาย (ร้อยละ 37) รองลงมาคือ การลดการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (ร้อยละ 34) และการใช้ถุงและบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (ร้อยละ 33) ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการรักษาสิ่งแวดล้อม
จากการจัดทำรายงานความเสี่ยงของโลกอย่างต่อเนื่องทุกปีทำให้เห็นความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทและสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งสรุปว่า เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่กำลังเติบโตในลักษณะที่ไม่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและไม่มีความครอบคลุมทางสังคม กล่าวคือ มีการทำลายสิ่งแวดล้อมและมีประชาชนถูกทิ้งไว้ข้างหลังในระหว่างที่โลกกำลังพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโต นอกจากนี้ ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน คือ ความเสี่ยงในมิติเศรษฐกิจที่เคยถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มที่มีคะแนนสูงสุดมาโดยตลอดกลับมีบทบาทหรือความสำคัญลดลงในช่วงปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา สวนทางกับความเสี่ยงในมิติสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทมากขึ้น โดยเป็นประเด็นที่ถูกจัดอันดับสูงสุดในปี พ.ศ. 2563 และพบว่ามีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับมิติอื่นอย่างซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากความเสี่ยงโลกดังกล่าว จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องกลับมาทบทวนและมองหาวิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความชัดเจน มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนในระยะยาว สำหรับประเทศไทยแม้ว่าบริบทและสถานการณ์ของประเทศอาจแตกต่างจากบริบทและสถานการณ์ของโลก ส่งผลให้ความเสี่ยงที่กระทบต่อประเทศแตกต่างไปจากความเสี่ยงของโลกบ้าง แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประเทศไทยย่อมได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจในบริบท สถานการณ์ และความเสี่ยงของโลกที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการรับมือ ปรับตัว หรือหามาตรการในการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกับประเทศไทยได้ในอนาคต
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th