“เรือหลวง” หมายถึง บรรดาเรือรบและเรือช่วยรบที่มีชื่อปรากฏอยู่ในอัตรากองทัพเรือโดย “เรือรบ” คือ เรือที่ใช้ปฏิบัติการยุทธ์ แบ่งเป็น 11 ประเภท เช่น เรือฟริเกต เรือคอร์เวต เรือดำน้ำเรือยกพลขึ้นบก เป็นต้น ส่วน “เรือช่วยรบ” คือ เรือที่ไม่ได้ใช้ในการยุทธ์โดยตรงและเรือที่ใช้ในกิจการพิเศษของกองทัพเรือ แบ่งเป็น 8 ประเภท เช่น เรือส่งกำลังบำรุง เรือน้ำมัน เรือน้ำ เป็นต้น
ประเทศไทยเริ่มมีเรือหลวงซึ่งเป็นเรือรบที่ทันสมัยประจำการในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 คือ เรือหลวงพระร่วง ซึ่งเป็นเรือรบสำหรับป้องกันราชอาณาจักรทางทะเลที่รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมกับเงินบริจาคของประชาชนเพื่อจัดซื้อจากสหราชอาณาจักร และกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ได้ทรงนำเรือหลวงพระร่วงกลับประเทศไทยด้วยพระองค์เองอันเป็นการแสดงถึงอัจฉริยภาพด้านการเดินเรืออย่างแท้จริง เนื่องจากในสมัยนั้นเทคโนโลยีด้านการเดินเรือยังไม่ทันสมัยเทียบเท่าปัจจุบัน
เรือหลวงของไทยได้มีบทบาทในการป้องกันประเทศครั้งสำคัญในเหตุการณ์ “การรบยุทธนาวีเกาะช้าง” บริเวณเกาะช้าง จังหวัดตราด ซึ่งการรบเกิดจากกรณีพิพาทที่ไทยเรียกร้องให้ฝรั่งเศสปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทย-อินโดจีนฝรั่งเศสเสียใหม่ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักความยุติธรรม โดยในเหตุการณ์ครั้งนั้น เรือหลวงธนบุรีได้เข้าช่วยเหลือเรือหลวงอีก 2 ลำที่ประจำการรบอยู่ และได้ยิงตอบโต้กับเรือรบของฝรั่งเศสและสร้างความเสียหายให้แก่เรือรบของฝรั่งเศสเป็นอย่างมากจนกองเรือรบของฝรั่งเศสส่งสัญญาณถอนตัวจากการรบ
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 กองทัพเรือได้มีเรือหลวงลำใหม่ล่าสุดเข้าประจำการในกองทัพเรือ คือ “เรือหลวงช้าง” หรือ H.T.M.S. CHANG หมายเลขเรือ 792 เป็นเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกลำที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือไทยในขณะนี้ เรือหลวงช้างเข้าประจำการตามแนวทางการพัฒนากำลังรบตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือเพื่อรองรับบทบาทและหน้าที่ของกองทัพเรือในด้านการป้องกันประเทศ การรักษาผลประโยชน์และเส้นทางคมนาคมของชาติทางทะเล โดยการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ สนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ ตลอดจนการช่วยเหลือประชาชนในการบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ทั้งในทะเลและชายฝั่ง
สำหรับขนาดของเรือหลวงช้างลำล่าสุดนั้นมีขนาดความยาว 213 เมตร กว้าง 28 เมตร กินน้ำลึก 6.8 เมตร ระวางขับน้ำสูงสุด 25,000 ตัน ทำความเร็วสูงสุดได้ 25 นอต สามารถบรรทุกกำลังพลพร้อมอุปกรณ์ได้ประมาณ 650 นาย ปัจจุบันมีกำลังพลประจำเรือ 196 นาย และสามารถปฏิบัติการต่อเนื่องได้ 45 วัน ประเทศไทยได้รับมอบเรือหลวงช้างจากบริษัทต่อเรือของจีนเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 โดยผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้นเดินทางไปเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือ และเดินทางกลับมายังประเทศไทยในวันที่ 25 เมษายน 2566
ทั้งนี้ ชื่อของเรือหลวงช้างนั้นตั้งตามชื่อของหมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกองทัพเรือที่กำหนดเกณฑ์การตั้งชื่อเรือหลวงของไทยให้เรือยกพลขึ้นบกตั้งชื่อตามชื่อเกาะ ซึ่งที่ผ่านมากองทัพเรือได้เคยมีเรือหลวงช้างมาแล้ว 2 ลำ โดยเรือหลวงช้างลำใหม่นี้เป็นเรือหลวงช้างลำที่ 3 ของกองทัพเรือไทย สำหรับเรือหลวงช้างลำแรกเข้าประจำการระหว่าง พ.ศ. 2445-2505 โดยในการรบยุทธนาวีเกาะช้าง จังหวัดตราดได้เป็นเรือที่ช่วยลากเรือหลวงธนบุรีที่ถูกไฟไหม้จากการรบเข้าเกยตื้น ส่วนเรือหลวงช้างลำที่ 2 ถูกสร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้ขายให้แก่กองทัพเรือไทยและเปลี่ยนชื่อเป็นเรือหลวงช้างแล้วเข้าประจำการในกองทัพเรือเป็นเวลา 50 ปีจึงถูกปลดระวาง และเมื่อปี 2555 ได้ถูกจมลงที่เกาะช้าง จังหวัดตราด เพื่อทำเป็นแนวปะการังเทียม
เรือหลวงช้างลำใหม่นี้เป็นเรือรบของไทยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เข้าประจำการในกองทัพเรือของไทยเพื่อเป็นเรือสนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำหรือเป็นเรือพี่เลี้ยงของเรือดำน้ำซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพและสมรรถนะของกองทัพเรือในการปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th