คุรุสภาเป็นองค์กรของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เกิดขึ้นจากพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 คุรุสภามีประวัติความเป็นมา ดังนี้
ก่อนการจัดตั้งคุรุสภาขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2430 การศึกษาเล่าเรียนในประเทศไทยเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ในแวดวงผู้ประกอบอาชีพครูได้มีการรวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ให้กับครูในลักษณะการสมาคม โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
สมัยเป็นวิทยาทานสถาน ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2438 มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับครู ซึ่งเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีคนแรกของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) เป็นคนจัดตั้งขึ้นที่สี่กั๊กพระยาศรี ใกล้ห้างแอลยีริกันดี ผู้อบรมครูคนแรก คือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (นายสนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 มีการจัดตั้งสภาสำหรับอบรมและประชุมครูขึ้นที่วัดใหม่วินัยชำนาญ (วัดเทพผลู) แขวงบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี ใช้ชื่อว่า “สภาไทยาจารย์” เปิดทำการสอนครูทุกวันพระอันเป็นวันหยุดราชการ
ในปี พ.ศ. 2445 กรมศึกษาธิการจัดตั้ง “สามัคยาจารย์สโมสรสถาน” เพื่อใช้เป็นที่ประชุมอบรมและสอนครูขึ้นที่โรงเรียนทวีธาภิเศก โดยมีเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) เป็นนายกสภาคนแรก ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปตั้งอยู่ในโรงเรียนมัธยมวัดราชบูรณะ (โรงเรียนสวนกุหลาบ) ต่อมาปี พ.ศ. 2447 สามัคยาจารย์สโมสรสถานได้ยกฐานะเป็นสมาคม ใช้ชื่อว่า “สามัคยาจารย์สมาคม” กิจการของสามัคยาจารย์สมาคมได้สร้างความเจริญเพิ่มพูนความรู้และความสามัคคีให้แก่ครูด้วยดีมาตลอดเป็นเวลา 40 ปีเศษ
ในปี พ.ศ. 2488 ได้มีการตราพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 ขึ้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 มีสาระสำคัญคือให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า “คุรุสภา” เป็นนิติบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายกว้างขวางครอบคลุมกิจการของสามัคยาจารย์สมาคม จึงมีการรวมงานและทรัพย์สินของสามัคยาจารย์สมาคมมาเป็นของคุรุสภา และให้จัดตั้งสโมสรสามัคยาจารย์ขึ้นใหม่เป็นแผนกหนึ่งของคุรุสภา ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาบรรณและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครูและครอบครัวครูให้ได้รับความช่วยเหลือตามควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครูและที่สำคัญทำหน้าที่แทน ก.พ. เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของครู
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คุรุสภามีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงบทบาทอำนาจหน้าที่และโครงสร้างระบบการบริหารงานต่าง ๆ มากพอสมควร เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและวิวัฒนาการทางสังคมตลอดทั้งความต้องการของสมาชิกแต่ก็ไม่ทิ้งหลักการเดิม คือ เพื่อให้ความคิดเห็นอีกทั้งเป็นสภาที่ปรึกษาและรักษานโยบายการศึกษาของชาติ เพื่อช่วยฐานะของครูและทำหน้าที่แทน ก.พ. ในช่วงปี พ.ศ 2488-2523 คุรุสภาไม่เน้นหนักในเรื่องการบริหารบุคคล เช่น การบรรจุแต่งตั้งและเลื่อนขั้น เรื่องเงินเดือน เรื่องตำแหน่ง งานอุทธรณ์ ร้องทุกข์ วินัย เป็นต้น และต่อมาในปี พ.ศ. 2523 คุรุสภาได้โอนงานบริหารงานบุคคลไปให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) ดำเนินการแทน
ปัจจุบันคุรุสภามีวัตถุประสงค์ตามมาตรา 8 ตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ดังนี้
โดยคุรุสภามีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ควบคุมความประพฤติและการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอประกอบวิชาชีพ พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต สนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ส่งเสริม สนับสนุน ยกย่อง และผดุงเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา รับรองปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรของสถาบันต่าง ๆ ตามมาตรฐานวิชาชีพ รับรองความรู้และประสบการณ์ทางวิชาชีพ รวมทั้งความชำนาญในการประกอบวิชาชีพ ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ เป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาของประเทศไทย ออกข้อบังคับต่าง ๆ ให้คำปรึกษาหรือเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายหรือปัญหาการพัฒนาวิชาชีพ ให้คำแนะนำหรือเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพหรือการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศต่าง ๆ และกำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อกระทำการใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคุรุสภา
ในส่วนของหน้าที่ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จากข้อมูล ณ วันที่ 6 กันยายน 2567 คุรุสภาได้ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทั้งหมด จำนวน 1,077,673 ราย ประกอบด้วย ครู จำนวน 976,303 ราย ผู้บริหารการศึกษา จำนวน 7,880 ราย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 84,972 ราย และศึกษานิเทศก์ จำนวน 8,518 ราย
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th