โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

Script Writer
สุริยา ฆ้องเสนาะ, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-01
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักในความสำคัญของความรู้ทางวิชาการต่าง ๆ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ ตลอดมา โดยเฉพาะกับเยาวชนในถิ่นทุรกันดารและขาดโอกาสทางการศึกษา ทรงมีพระราชปรารภว่า “การเรียนรู้ในเรื่องราวและวิชาการต่าง ๆ โดยกว้างขวาง เป็นเหตุให้เกิดความรู้ ความคิด และความฉลาด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต ช่วยให้บุคคลสามารถสร้างประโยชน์สุข สร้างความเจริญมั่นคงให้แก่ตนเองทั้งแก่สังคมและบ้านเมืองอันเป็นที่พึ่งพาอาศัยได้ ทุกคนจึงควรมีโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้ได้ตามความประสงค์และกำลังความสามารถโดยทั่วกัน”

นอกจากนี้ ทรงพระราชดำริว่าหนังสือประเภทสารานุกรมนั้น บรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง เมื่อมีความต้องการหรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใด ก็สามารถค้นหา อ่านทราบโดยสะดวก นับว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์ เกื้อกูลการศึกษา เพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของประชาชนอย่างสำคัญ โดยเฉพาะในยามที่มีปัญหาการขาดแคลนครู และที่เล่าเรียนเช่นขณะนี้ หนังสือสารานุกรมจะช่วยคลี่คลายให้บรรเทาเบาบางลงได้เป็นอย่างดี จึงมีพระราชดำรัสให้ตั้งโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นองค์ที่ปรึกษา มีพลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ เป็นประธานโครงการ โดยพลโท พระยาศัลวิธานนิเทศได้นำคณะกรรมการโครงการซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาต่าง ๆ เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการจัดทำหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2511

จากพระบรมราโชบายดังกล่าว คณะกรรมการโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ จึงแบ่งเรื่องต่าง ๆ ออกเป็นสามส่วนหรือสามระดับความรู้ คือ เด็กรุ่นเล็กระดับหนึ่ง เด็กรุ่นกลางระดับหนึ่ง และเด็กรุ่นใหญ่ รวมทั้งผู้ใหญ่ผู้สนใจอีกระดับหนึ่ง ในการเขียนเนื้อหาแต่ละส่วนนั้นจะเขียนให้เหมาะสมกับผู้อ่านแต่ละกลุ่ม และพิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดต่าง ๆ กัน โดยในแต่ละเรื่องนั้นจะเริ่มต้นเนื้อหาในระดับของเด็กรุ่นเล็กก่อน ตามด้วยเนื้อหาของเด็กรุ่นกลาง สุดท้ายเป็นเนื้อหาของเด็กรุ่นใหญ่และผู้ใหญ่ นอกจากนี้ จะมีรูปภาพประกอบเรื่องเพื่อให้เป็นตำราที่น่าอ่านและดึงดูดใจเยาวชนตลอดจนผู้อ่านทั่ว ๆ ไป ในการจัดทำเนื้อหาแต่ละส่วนนั้น ผู้จัดทำต้องแสวงหาวิทยากรที่มีประสบการณ์ในการเขียนหนังสือสำหรับเด็กรุ่นเล็กและเด็กรุ่นกลางมาช่วยเขียนในส่วนของเด็กรุ่นเล็กและเด็กรุ่นกลางด้วย

ต่อมาคณะกรรมการโครงการฯ ได้เริ่มจัดทำตัวอย่างบทความตามแนวพระบรมราโชบาย และได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย และขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยอีกครั้ง เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512 โดยได้เชิญอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาต่าง ๆ 7 สาขา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ คณิตศาสตร์ และแพทยศาสตร์ มาจัดทำสารานุกรมไทยฯ เล่มที่ 1 โดยได้จัดพิมพ์แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2516 เป็นจำนวน 10,000 เล่ม และครึ่งหนึ่งของจำนวนที่พิมพ์ ได้นำทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อพระราชทานให้แก่โรงเรียน และห้องสมุดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร ส่วนจำนวนที่เหลือได้นำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นทุนในการจัดทำหนังสือเล่มต่อไป

ปัจจุบันสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ที่จัดพิมพ์ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2516 - 2566 มีจำนวนทั้งหมด 43 เล่ม นอกจากนั้น ยังมีสารานุกรมไทยที่จัดทำขึ้นในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น สารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก เป็นหนังสือสารานุกรม ที่จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช 2539 หนังสือสารานุกรมไทย ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยประมวลพระราชจริยาวัตร พระราชกรณียกิจ และพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์ เป็นต้น

ปัจจุบันนอกจากการอ่านสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ในรูปแบบของหนังสือแล้ว ยังสามารถอ่านสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ในรูปแบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ นอกจากนี้ ยังได้มีหนังสือเสียงอิเล็กทรอนิกส์ระบบเดซี่ซึ่งจัดทำเป็นพิเศษเพื่อผู้พิการทางการมองเห็นอีกด้วย

การอ่านสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ สามารถช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและรักการค้นคว้า สามารถใช้สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เป็นแหล่งเริ่มต้นในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ และคำตอบให้กับตนเองได้เป็นอย่างดี และยังเป็นสื่อในการสนทนาปลูกฝังความรู้และทัศนคติที่ดีให้แก่ลูกหลาน ให้รู้จักการปฏิบัติตนในชีวิต นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ทั้งครูอาจารย์ นิสิตนักศึกษา และนักเรียนที่จะใช้สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ประกอบการสอนวิชาต่าง ๆ และยังเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการในการเขียนตำราเอกสารประกอบการสอน และการทำวิทยานิพนธ์ได้อีกด้วย

ภาพปก