THACCA กับการพัฒนา 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทย

Script Writer
วิลาสิณี ฉายรัตน์ตระกูล, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-06
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ในสมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2557–2566 ได้มีการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ หรืออำนาจละมุน ผ่านแนวคิด 5 F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่น (Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณีไทย (Festival) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก ต่อมาในสมัยรัฐบาล นายเศรษฐา  ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2566–ปัจจุบัน ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติ และดำเนินงานตามมาตรการและแนวทางเพื่อสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งจะมีการจัดตั้ง Thailand Creative Content Agency (THACCA) เป็นหน่วยงานตามกฎหมายภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของนายกรัฐมนตรี

บทบาทหน้าที่ของ THACCA ทำหน้าที่ดูแลซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นระบบและสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ได้แก่

  • 1) เป็นเจ้าภาพหลักดูแลซอฟต์พาวเวอร์ทั้งระบบ
  • 2) จัดตั้งกองทุนรวมซอฟต์พาวเวอร์
  • 3) ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร เชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวด้วยระบบขนส่งมวลชน
  • 4) ยกระดับคนทำงานด้วย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ สร้างศูนย์บ่มเพาะเพื่อยกระดับศักยภาพสร้างสรรค์ทุกพื้นที่ เรียนฟรีมีเงินเดือนผ่านการเรียนควบคู่การทำงาน สนับสนุนให้ตั้งสหภาพคนทำงานในทุกสาขา เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจ้างงานและคุ้มครองสวัสดิการ
  • 5) แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค ลดขั้นตอนและเวลาในการประสานงานและขอใบอนุญาตทุกฉบับ
  • 6) ทบทวนการเซนเซอร์ภาพยนตร์ ละคร และละครชุด (Series) ไม่ตีกรอบความคิดสร้างสรรค์ และ
  • 7) เร่งผลักดัน 11 อุตสาหกรรมเป้าหมายของ THACCA ผ่านการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ เจรจาเปิดตลาดใหม่ ขยายขนาดอุตสาหกรรม และสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง ดังนี้

1) ภาพยนตร์ ผ่านนโยบายจัดตั้งกองทุนสนับสนุนผู้ผลิตภาพยนตร์ที่ครอบคลุมทั้งภาพยนตร์กระแสหลักและภาพยนตร์อิสระ จัดหาแหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ทบทวนมาตรการเซนเซอร์เนื้อหา จัดตั้งสหภาพคนทำงานภาพยนตร์ สนับสนุนด้วยการเช่าโรงภาพยนตร์ของเอกชนเพื่อฉายภาพยนตร์ไทย-ภาพยนตร์ท้องถิ่น และขยายตลาดภาพยนตร์ไทยไปสู่เทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก         

2) ศิลปะ ผ่านนโยบายปรับปรุงกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย แก้กฎหมายและระเบียบที่เป็นอุปสรรค ลดภาษีอุปกรณ์ศิลปะให้เหลือร้อยละศูนย์ แจกคูปองท่องฝันให้แก่เยาวชนเพื่อศึกษาดูงานสร้างสรรค์ และขับเคลื่อน 1 ตำบล 1 ลานสร้างสรรค์

3) หนังสือ ผ่านนโยบายลดภาษีมูลค่าเพิ่มกระดาษให้เหลือร้อยละศูนย์เพื่อลดต้นทุนในการพิมพ์ ไม่ปิดกั้นเสรีภาพของผู้เขียน พัฒนาห้องสมุดและขยายห้องสมุดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จัดตั้งกองทุนพัฒนาหนังสือ สนับสนุนทุนในการแปลหนังสือไทยเป็นภาษาต่างประเทศ และส่งออกหนังสือไทยสู่ตลาดหนังสือโลก

4) อาหาร ผ่านนโยบายสร้างเครือข่ายร้านอาหารไทยในต่างประเทศ เพิ่มการส่งออกและวัตถุดิบจากไทย ให้ทุนและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ธุรกิจอาหารและร้านอาหารไทยทั้งในและต่างประเทศ ปลดล็อกสุราชุมชนจากสินค้าเกษตรไทย ขยายพื้นที่และยกระดับมาตรฐานความสะอาดของ Street Food

5) ดนตรีและเฟสติวัล ผ่านนโยบายอำนวยความสะดวกแบบเบ็ดเสร็จให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนแฝงของผู้ประกอบการ ปลดล็อกธุรกิจสุราให้เป็นสปอนเซอร์ธุรกิจดนตรีได้ ปลดล็อกช่วงเวลาซื้อขายแอลกอฮอล์ ปลดล็อกช่วงเปิดปิดธุรกิจกลางคืน เปิดพื้นที่สาธารณะในการแสดงดนตรี และสนับสนุนดนตรีอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมทั้งดนตรีไทยเดิมและดนตรีร่วมสมัย

6) การท่องเที่ยว ผ่านนโยบายเร่งผลักดันการท่องเที่ยวศักยภาพสูง ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) การท่องเที่ยวทางน้ำ (Cruises) และธุรกิจสร้างสรรค์งานจัดประชุม (MICE) ให้ธุรกิจท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งทุนและประกันความเสี่ยงกรณีเกิดวิกฤต ทบทวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ขยายสนามบินสุวรรณภูมิให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก 100 ล้านคนต่อปี และเร่งลงทุนในระบบขนส่ง ถนน ราง เรือ

7) กีฬา ผ่านนโยบายยกระดับมวยไทยและบอลไทยไปเวทีโลก ดึงดูดการแข่งขันและการจัดประชุมเสวนากีฬาระดับโลกในประเทศไทย ยกระดับสวัสดิการนักกีฬาอาชีพและขยายสู่นักกีฬาสมัครเล่น สร้างความร่วมมือให้รัฐวิสาหกิจที่มีกำไรและหน่วยงานรัฐ-เอกชนมาสนับสนุนสมาคมกีฬา และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กองทุนสามารถสนับสนุนนักกีฬาไทยไปแข่งขันในเวทีต่างประเทศ

8) การออกแบบ ผ่านนโยบายสร้างศูนย์สร้างสรรค์และออกแบบ (TCDC) ให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อพัฒนาการออกแบบและบ่มเพาะนักออกแบบรุ่นใหม่ สนับสนุนภาคเอกชนในการส่งออกผลงาน สินค้าออกแบบและจัดแสดงงานในต่างประเทศ

9) ละครและละครชุด (Series) ผ่านนโยบายอำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่ถ่ายทำ ทบทวนเรื่องการห้ามฉายและเซนเซอร์เนื้อหา และส่งออกละครและละครชุดไทยไปยังตลาดโลก

10) เกม ผ่านนโยบายพัฒนาหลักสูตร ส่งเสริมผู้ประกอบการ จัดตั้งกองทุน และสร้างสนามกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย

11) แฟชั่น ผ่านนโยบายพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ และส่งเสริมการแสดงสินค้าในต่างประเทศ

เมื่อพิจารณาจากบทบาทหน้าที่และอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 11 ด้านดังกล่าว THACCA จึงเป็นองค์กรที่จะทำหน้าที่ในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยอย่างเป็นระบบและครบวงจร ทั้งการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค การจัดตั้งกองทุนและสหภาพแรงงาน ส่งเสริมและผลิตผู้ประกอบการ และผลักดันการส่งออกธุรกิจสร้างสรรค์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทยทุกสาขาไปสู่ตลาดโลก

ภาพปก