“Digital Nomad” เมื่องานกับเที่ยวเป็นเรื่องเดียวกัน จุดโอกาสสำคัญของเศรษฐกิจไทย

Script Writer
พิมพ์ธัญญา ฆ้องเสนาะ, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-03
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ผู้คนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ทั้งรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวัน และการนำเทคโนโลยีไร้พรมแดนมาใช้กับ     การทำงานอย่างก้าวกระโดด โดยเป็นการทำงานระยะไกล (Remote Work and Virtual Meetings) ผ่านระบบออนไลน์จากสถานที่ใดก็ได้ การปรับใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation and AI) ที่นำปัญญาประดิษฐ์มาใช้แทนแรงงาน และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นแรงงานอิสระมากขึ้น (Self-employed /Gig Workers) นอกจากนี้ ปัจจัยดังกล่าวยังเป็นการสนับสนุนให้ “Digital Nomad” ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก พร้อมกับทำงานหารายได้ไปด้วย เพียงแค่มีเทคโนโลยีและสื่อสมัยใหม่ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก็สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ถือเป็นอาชีพที่มีความเป็นอิสระ ซึ่งสามารถติดต่องานและส่งงานผ่านระบบออนไลน์ได้ตลอดเวลา และเดินทางท่องเที่ยวควบคู่กันไป โดยพำนักในแต่ละแห่งเป็นการชั่วคราว และย้ายไปยังสถานที่อื่น ๆ โดยเลือกรับงานจากประเทศที่มีอัตราค่าจ้างสูง และมักเลือกมาใช้ชีวิตในประเทศที่มีอัตราค่าครองชีพต่ำกว่าแต่มีความสวยงามทางธรรมชาติ และมีความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับหนึ่ง มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นจากจำนวน 35 ล้านคน ในปี 2565 เป็น 1,000 ล้านคน ในปี 2578  หรือ 1 ใน 3 ของประชากรวัยทำงานทั่วโลก ปัจจุบันประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

1. Freelance ผู้ที่ทำงานอิสระไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงานใด และรับงานเป็นรายครั้ง

2. Remote Worker พนักงานประจำ แต่ทำงานนอกสถานที่โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และ

3. Entrepreneurs กลุ่มผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการ ซึ่งกลุ่ม Digital Nomad

จะมีงบประมาณในการใช้จ่ายเฉลี่ย 1,875 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือราว 62,000 บาทต่อเดือน และมีระยะเวลาพำนักเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน ก่อนจะย้ายเมืองหรือประเทศที่ใช้เป็นสถานที่ทำงานใหม่ต่อไป

ปัจจัยหลักในการเลือกจุดหมายปลายทางของกลุ่ม Digital Nomad ได้แก่ การมีค่าครองชีพต่ำ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติสวยงาม อัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราหรือวีซ่า (Visa) เหมาะสม มีความปลอดภัย จำนวนร้านกาแฟ/Co-working Space ที่เหมาะแก่การทำงาน ทั้งนี้ Digital Nomad ทั่วโลกสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากถึง 787 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณปีละ 26.8 ล้านล้านบาท จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายของหลายประเทศ เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น จากธุรกิจหลักหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร บริการเช่ารถจักรยานยนต์ การจัดนำเที่ยวกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เดินป่า ปีนเขา ดำน้ำ การเรียนทำอาหาร โยคะ มวยไทย ศิลปะ/งานฝีมือ ธุรกิจโทรคมนาคม และธุรกิจโดยอ้อม ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า ธุรกิจสถานบันเทิง รวมถึงธุรกิจการแพทย์ ทั้งสถานพยาบาลและร้านขายยา   

โดยจากการจัดอันดับ 10 ประเทศที่เหมาะสมที่สุดสำหรับ Digital Nomad ในปี 2567 โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ระยะเวลาการอนุญาตให้อาศัยและทำงานอยู่ในประเทศ คุณภาพอินเทอร์เน็ต การจัดเก็บภาษีรายได้และระยะยกเว้นภาษี ข้อกำหนดรายได้สำหรับการยื่นขอวีซ่า ค่าครองชีพในสกุลเงินยูโร คะแนนความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ความปลอดภัย ความนิยมด้านการท่องเที่ยว พบว่าอันดับ 1 สเปน อันดับ 2 อาร์เจนตินา อันดับ 3 โรมาเนีย รองลงมา ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โครเอเชีย โปรตุเกส อุรุกวัย มอลตา นอร์เวย์ และอันดอร์รา ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมของ Digital Nomad เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีจุดแข็งด้านการมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุม ค่าที่พักไม่สูงและมีหลายระดับราคาให้เลือก มีอาหารที่เป็นเอกลักษณ์และรสชาติอร่อย ผู้คนเป็นมิตรกับชาวต่างชาติ รวมทั้งไม่มีปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ ภายใต้ค่าครองชีพที่สมเหตุสมผล เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยผลการสำรวจ พบว่า กรุงเทพมหานครเป็นอันดับ 2 ของสถานที่ทำงานที่ดีที่สุดสำหรับ Digital Nomad ในปี 2566 นอกจากนี้ เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดเชียงใหม่ ยังได้รับเลือกให้เป็นเมืองที่ดีสุดในเอเชียของ Digital Nomad อีกด้วย 

การเข้ามาของ Digital Nomad จึงนับเป็นโอกาสและความหวังใหม่ของเศรษฐกิจไทย หากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการปรับเงื่อนไขการขอวีซ่าให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ขนส่งสาธารณะ ความปลอดภัย สถานพยาบาล สถานที่รองรับการทำงาน พัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศของคนในพื้นที่ท้องถิ่น รวมทั้งแก้ไขจุดบกพร่อง ทั้งปัญหามลพิษทางอากาศ การก่ออาชญากรรมและอุบัติเหตุ จะทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ของไทยในปี 2570 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนถึง 2.5 แสนคน ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศกว่า 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท

ภาพปก