ชุดไทยพระราชนิยม มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย

Script Writer
วิจิตรา ประยูรวงษ์, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
25024-05
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล โดยได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ตามประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรื่อง การขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2566 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 141 ตอนพิเศษ 27 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 ชุดไทยพระราชนิยมได้รับการกล่าวถึงเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเยือนสหรัฐอเมริกาาและยุโรปอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 2503 เพื่อทรงเจริญทางพระราชไมตรี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริว่า สตรีไทยในขณะนั้นไม่มีเครื่องแต่งกายที่เป็นชุดไทยหรือชุดประจำชาติเหมือนสตรีชาติอื่น ๆ เช่น ส่าหรีของสตรีอินเดีย หรือกิโมโนของสตรีญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงสอบถามผู้รู้และมีประสบการณ์ รวมทั้งการศึกษาจากประวัติศาสตร์อย่างละเอียดถี่ถ้วน และมีพระราชเสาวนีย์ให้ผู้เชี่ยวชาญค้นคว้าประวัติศาสตร์ ธรรมเนียมการแต่งกายของสตรีไทยในราชสำนักโบราณ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ออกแบบฉลองพระองค์ชุดไทยแบบต่าง ๆ โดยนำรูปแบบการแต่งกายของสตรีไทยในอดีตมาผสมผสานกับวิธีการตัดเย็บปัจจุบันได้อย่างลงตัว เพื่อให้สะดวกต่อการสวมใส่และเหมาะสมกับยุคสมัย แต่คงความเป็นไทยได้อย่างกลมกลืนและสง่างาม สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็น จนกระทั่งนิตยสาร “โว้ก” (Vogue) นิตยสารระดับโลก ชื่นชมในพระราชจริยวัตรอันงดงามของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในฉลองพระองค์ชุดไทย จึงได้ส่งช่างภาพมาขอพระราชทานพระฉายาลักษณ์ ลงในนิตยสารโว้ก ฉบับเดือนกรกฎาคม 2525 ส่งผลให้ผ้าไทยมีชื่อเสียงอย่างมาก และเป็นที่นิยมสวมใส่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่อมาพระองค์ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดพิมพ์สมุดภาพ "หญิงไทย" เผยแพร่การแต่งกายชุดไทยพระราชนิยม ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ออกแบบสร้างสรรค์ จำนวน 5 แบบ และหลังจากชุดไทยพระราชนิยมได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นอีก 3 แบบ รวม 8 แบบ ดังนี้

  1. 1. ชุดไทยเรือนต้น เป็นชุดไทยแบบลำลอง เหมาะสำหรับใช้แต่งไปในงานที่ไม่เป็นพิธีการและต้องการความสบายในการสวมใส่ เช่น งานกฐินต้น เที่ยวเรือ เที่ยวน้ำตก           
  2. 2. ชุดไทยจิตรลดา เป็นชุดไทยพิธีกลางวัน ใช้ในงานพิธีการ เช่น การต้อนรับแขกต่างประเทศที่มาเยือนเป็นทางการ โดยไม่ต้องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 
  3. 3. ชุดไทยอมรินทร์ เป็นชุดไทยพิธีตอนค่ำ ไม่ต้องคาดเข็มขัด เหมาะสำหรับใช้ในงานเลี้ยงรับรอง และเฉพาะในงานพระราชพิธีสวนสนามในวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  4. 4. ชุดไทยบรมพิมาน เป็นชุดไทยพิธีตอนค่ำที่ใช้เข็มขัด สำหรับใช้ในงานเต็มยศและครึ่งยศ เช่น งานอุทยานสโมสร งานพระราชทานเลี้ยงอาหารอย่างเป็นทางการ โดยใช้เครื่องประดับสวยงามตามสมควร
  5. 5. ชุดไทยจักรี เป็นชุดไทยสไบ ใช้สำหรับงานกลางคืน งานแต่งงานหรืองานราตรีสโมสรที่ไม่เป็นทางการ และอากาศไม่เย็นมากนัก โดยเป็นชุดไทยห่มสไบ เปิดบ่าข้างหนึ่ง            
  6. 6. ชุดไทยดุสิต เป็นเสื้อสำหรับงานพิธีตอนค่ำ ไม่มีแขน ใช้ในงานพระราชพิธีที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ
  7. 7. ชุดไทยจักรพรรดิ เป็นชุดสำหรับสตรีใช้สวมใส่ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศสวมสายสะพายในงานพระราชพิธี 
  8. 8. ชุดไทยศิวาลัย เป็นชุดไทยของสตรีบรรดาศักดิ์ในสมัยก่อน มักใช้ในงานตอนค่ำ งานเลี้ยง งานฉลองสมรส หรืองานพิธีเต็มยศ เหมาะสมสำหรับช่วงอากาศเย็นเพราะมีหลายชั้น

จากความสำคัญและความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชุดไทยพระราชนิยมดังกล่าว กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจึงได้เสนอชุดไทยพระราชนิยมขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ในปี 2567 เพื่อเป็นการคุ้มครองรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ชุดไทยพระราชนิยมเป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้นในระดับนานาชาติ ให้คนไทยได้มีความภาคภูมิใจแลตระหนักถึงคุณค่าในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ รัฐบาลควรส่งเสริมให้การแต่งกายด้วยชุดไทยพระราชนิยมเป็นซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่สร้างงาน สร้างรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อันเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอของชุมชนสู่การเปิดตลาดในระดับชาติและนานาชาติอย่างยั่งยืนต่อไป

ภาพปก