ประชากรเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของชาติมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในอนาคตของทุกประเทศให้มีความเจริญมั่นคงยั่งยืน โดยเฉพาะหลายประเทศที่พัฒนาแล้วในทวีปเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสิงคโปร์ ประสบปัญหาจำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มจำนวนมากขึ้น ขณะเดียวกันภาวการณ์เจริญพันธุ์อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง ประกอบกับอัตราการตายของประชากรยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากความเจริญและทันสมัยของเทคโนโลยีทางการแพทย์และการรักษาโรค การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรลักษณะเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ภาวะการลดลงของประชากรเกิดใหม่จึงกลายเป็นวิกฤตของประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ส่วนประเทศไทยอยู่ในสภาวะวิกฤตประชากรเช่นเดียวกัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรไทย จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ จำนวน 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.08 ในขณะที่เด็กเกิดใหม่มีเพียง 5.18 แสนคน และคาดว่าประชากรไทยจะลดจำนวนลงเหลือ 60 ล้านคน ในปี 2585 โดยประชากรวัยเด็กอายุระหว่าง 0-14 ปี จะมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 16.27 เหลือร้อยละ 10.36 ประชากรวัยแรงงานอายุระหว่าง 15-59 ปี ลดลงจากร้อยละ 64.87 เหลือร้อยละ 58.20 ในขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุซึ่งมีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.86 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 31.44 ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 12.5 ล้านคน เป็น 18.9 ล้านคน
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีภาวะอัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษ คือ อัตราการเกิดของประชากรไทยในปี 2557 มีจำนวน 7.7 แสนคน มีสัดส่วนลดลงในปี 2566 จำนวน 5.18 แสนคน จากข้อมูลโครงสร้างด้านประชากรจะส่งผลกระทบให้ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตประชากรและอาจทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับอุปสรรคในการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ตัวอย่างปัญหาการเกิดวิกฤตประชากร เช่น การขาดแคลนประชากรวัยแรงงานทำให้ความสามารถในการแข่งขันและการผลิตของประเทศลดลง และประสบกับปัญหาการพึ่งพาของประชากรผู้สูงวัยต่อประชากรวัยแรงงานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในของประเทศต่อบุคคลและมาตรฐานการดำรงชีพของประชากรลดลง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และอาจนำไปสู่ปัญหาความไม่มั่นคงยั่งยืนของสังคม
ปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดวิกฤตประชากรของประเทศไทย คือ การเพิ่มจำนวนของผู้สูงอายุซึ่งมีอัตราส่วนในทิศทางตรงกันข้ามกับอัตราการเกิดที่ลดลง สอดคล้องกับข้อมูลของนักวิชาการจาก สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่าสาเหตุการเกิดของประชากรไทยลดลง คือ
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนวัยเจริญพันธุ์ไม่อยากมีบุตร เพราะมองว่าสังคมไทยมีปัญหาที่หลากหลาย จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญในการลดลงของเด็กเกิดใหม่จนเกิดภาวะวิกฤตประชากร ประเทศไทยโดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจึงได้ร่วมมือกันออกแบบนโยบาย มาตรการและการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้านประชากร เพื่อให้สังคมตระหนักรู้และเข้าใจถึงผลกระทบ
ที่เกิดขึ้นจากภาวะวิกฤตประชากรที่อาจจะส่งผลเสียต่อคุณภาพการดำรงชีวิตของประชากรทุกช่วงวัย รัฐบาลจึงได้กำหนดเป้าหมายและการพัฒนาประเทศด้านการประชากรให้มีความมั่นคงยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
20 ปี พ.ศ. 2561-2580 คือ การส่งเสริมให้ประชากรวัยเจริญพันธุ์มีบุตร การพัฒนาและยกระดับผลิตภาพประชากร การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร ทั้งในเรื่องของการได้รับสิทธิและสวัสดิการของประชาชนวัยเจริญพันธุ์ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและระบบการคุ้มครองทางสังคม รวมทั้งเป็นการสนับสนุนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th