โครงการพระดาบสเกิดขึ้นจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี พ.ศ. 2519 ที่จะให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ทรงเห็นว่าการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนและการพัฒนาประเทศ จึงมีพระราชดำริส่วนพระองค์ที่ทรงสนับสนุนให้สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนทุกระดับ เนื่องจากยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ประสบปัญหาไม่มีความรู้พื้นฐาน และไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาวิชาชีพระดับต่าง ๆ แนวพระราชดำริดังกล่าว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์ จัดตั้งโครงการพระดาบสขึ้น ซึ่งในระยะแรกได้ทดลองการฝึกอบรมวิชาช่างไฟฟ้าวิทยุขึ้นก่อน โดยเปิดรับบุคคลที่มีความตั้งใจจริงที่จะหาความรู้ โดยไม่จำกัดเพศ อายุ และความรู้ จากทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือนที่ผ่านศึกและทุพพลภาพได้เข้าเรียน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และใช้พื้นที่ของสำนักพระราชวังเป็นสถานที่ในการจัดการเรียนการสอน ในส่วนของครูผู้สอนนั้น จะเป็นอาสาสมัครที่ยินดีเสียสละเวลาให้ความรู้ของตนเป็นวิทยาทานโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น
สำหรับศิษย์รุ่นแรกตามโครงการพระดาบสนั้น มีผู้จบการศึกษาช่างวิทยุชั้นสูง จำนวน 5 คน โดยผู้ที่จบการศึกษาสามารถออกไปประกอบอาชีพได้จริง และเมื่อการฝึกอบรมได้ผลดีจึงมีการขยายเปิดสอนหลักสูตรช่างเครื่องยนต์ 1 ปี และหลักสูตรเตรียมช่าง 3 เดือน ในช่วง 5 ปีแรกของโครงการ
ตั้งแต่พ.ศ. 2519–2524 ได้ทำการฝึกอบรมศิษย์ทั้งสิ้น 71 คน เรียนสำเร็จ 46 คน หรือร้อยละ 65 และสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ เป็นข้อบ่งชี้ถึงความสำเร็จของโครงการพระดาบสในระดับหนึ่ง และช่วงนี้ภาครัฐได้เริ่มต้นพัฒนาการศึกษาสายอาชีพของประชาชนวัยแรงงานและกลุ่มเยาวชนนอกโรงเรียน โดยมีการจัดตั้งกรมการศึกษานอกโรงเรียนขึ้น
เมื่อ พ.ศ. 2522 และออกระเบียบกรมการศึกษานอกโรงเรียนว่าด้วยการดำเนินงานโรงเรียนผู้ใหญ่
พ.ศ. 2524 เป็นฉบับแรก จึงเกิดโรงเรียนผู้ใหญ่สายอาชีพขึ้น การสอนในโครงการพระดาบสสอดคล้องกับ “กลุ่มผู้สนใจ” ตามระบบการศึกษานอกโรงเรียนของทางราชการ
ต่อมาเมื่อมีการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษาในสถานศึกษาสังกัดกรม การศึกษานอกโรงเรียน พ.ศ. 2531 โครงการพระดาบสได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นโรงเรียนผู้ใหญ่พระดาบส เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2532 รับศิษย์รุ่นละประมาณ 30 คน ซึ่งเป็นอันสิ้นสุดโครงการทดลองอันยาวนานถึง 14 ปี โดยต่อมาในปี พ.ศ. 2550 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนพระดาบส
โรงเรียนพระดาบสได้ดำเนินการต่อเนื่องอย่างมีเอกลักษณ์ตามแนวพระราชดำริตลอด 4 ทศวรรษ ซึ่งต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโครงการลูกพระดาบสขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อ พ.ศ. 2541 และโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อ พ.ศ. 2553 ที่จังหวัดยะลา ก่อเกิดคุณูปการแก่ผู้ด้อยโอกาสและบ้านเมืองของเราอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันนี้มีศิษย์เรียนจบการศึกษาจากทั้ง 2 โรงเรียนแล้ว จำนวน 2,116 คน ส่วนใหญ่มีงานทำประกอบอาชีพได้จริงและรู้จักดำรงวิถีชีวิตที่ดี
ปัจจุบันโครงการพระดาบสได้เปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสทั่วประเทศ ที่มีอายุตั้งแต่ 18-35 ปี สามารถสมัครเข้าเรียนได้ โดยเปิดรับนักเรียนปีละ 250 คน เป็นชาย 200 คน และหญิง 50 คน เปิดการเรียนการสอนทั้งหมด 8 สาขาอาชีพด้วยกัน ได้แก่ ช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างยนต์ ช่างซ่อมบำรุง การเกษตรพอเพียง เคหะบริบาล ช่างไม้เครื่องเรือน ช่างเชื่อม โดยหลังจากจบหลักสูตรเฉพาะทางที่ฝึกมา ศิษย์พระดาบสจะได้รับการฝึกงานในสถานประกอบการ นอกจากนี้ โครงการพระดาบสยังช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีคุณธรรม และเป็นคนดีของสังคม ซึ่งศิษย์พระดาบสที่สำเร็จการศึกษาแล้ว และเป็นผู้ที่ไม่เคยถูกตัดคะแนนความประพฤติในระหว่างการศึกษาที่โรงเรียนพระดาบส ประกอบกับมีผลการศึกษาดีเด่นตามลำดับคะแนนในแต่ละสาขาช่าง มีโอกาสเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้วย
ในส่วนของชื่อพระดาบสนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ที่เลือกเอาคำพระดาบสนี้ เพราะคำพระดาบส หรือพระฤษี ก็เป็นคนที่ควรบูชา คนที่ควรยกย่องและนับถือ ฉะนั้น ก็เป็นกิจการที่ไปในทางมงคล ไปในทางที่สูง ในทางที่เจริญ ทุกคนที่ได้สนใจในกิจการนี้ ก็ขอให้ช่วยกันคิด ช่วยให้ครบถ้วน ทั้งกำลังทรัพย์ ทั้งกำลังใจ ทั้งความประพฤติที่เหมาะสมที่ดี จะทำให้โครงการพระดาบส มีผลสำเร็จเต็มเปี่ยม ทำให้ส่วนรวมของสังคม ซึ่งในปัจจุบันเป็นป่าคอนกรีต ให้ป่านี้ร่มเย็น เพราะว่าเวลาพูดถึงป่าคอนกรีต โดยมากก็เป็นสิ่งน่ากลัวเหมือนป่าทึบพร้อมกับเป็นเหมือนทะเลทรายและถ้าป่าคอนกรีตนี้มีบุคคลที่มีจิตใจที่ดี ก็จะร่มเย็นและอยู่ได้แบบของเรา แบบไทย ๆ ของเรา จะทำให้บ้านเมืองมีความเจริญ มีความผาสุก มีความสุข”
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th