การควบคุม กำจัด และเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำที่ถูกต้องตามกฎหมายการประมง

Script Writer
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-09
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

ปัญหาการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ในแหล่งน้ำสาธารณะและสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยได้สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผู้ประกอบอาชีพด้านการประมงเป็นอย่างมาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มีมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน ด้วยวิธีการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และนำปลาหมอคางดำที่ถูกกำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ ซึ่งในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำมีความจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยการใช้เครื่องมือประมงที่สามารถจับปลาดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงจะต้องมีกฎหมายรองรับและไม่ขัดต่อพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อันเป็นกฎหมายการประมงฉบับหลักที่ใช้ในการควบคุมการประมง ดูแลรักษา และอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในปัจจุบัน 

ด้วยปลาหมอคางดำจัดเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นประเภทที่รุกราน (Invasive alien species) ที่ห้ามนำเข้า ส่งออก และนำผ่านราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 ในการลดจำนวนประชากรปลาหมอคางดำได้อย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องใช้เครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อไม่ให้กฎหมายเป็นอุปสรรคในการใช้เครื่องมือประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดเครื่องมือ รูปแบบของเครื่องมือ ขนาดเรือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมงและเงื่อนไข ที่อนุญาตผ่อนผันให้ใช้ทำการประมง พ.ศ. 2567 อนุญาตผ่อนผันให้ใช้อวนรุนในการกำจัดปลาหมอคางดำได้ ทั้งนี้ เนื่องจาก “อวนรุน” จัดเป็นเครื่องมือทำการประมงที่ผิดกฎหมายตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ด้วยลักษณะการใช้อวนรุนลากจะเป็นการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ แต่ที่ผ่านมากรมประมงมีการอนุญาตให้ใช้อวนรุนทำการประมงภายใต้การควบคุมบางพื้นที่ได้ 

หลักเกณฑ์การอนุญาตผ่อนผันให้ใช้เครื่องมือประมงอวนรุน คือ ใช้ประกอบกับเรือกลขนาดไม่เกินสามตันกรอสทำการประมงพื้นบ้านหรือประมงน้ำจืด ขนาดคันรุนยาวไม่เกิน 16 เมตร ห้ามติดโซ่แต่ให้มีการถ่วงน้ำหนักได้ ด้วยการติดตั้งถ่วงน้ำหนักที่แนบกับเชือกคร่าวล่าง ขนาดของตาอวนตลอดผืนไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตผ่อนผันให้ใช้เครื่องมือทำการประมงดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ และการอนุญาตให้ใช้เครื่องมือประมงอวนรุนครั้งนี้ให้ใช้ได้เฉพาะในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับการผ่อนผันและให้ใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 

สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ อันเกิดจากการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำ ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดในพื้นที่ 19 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 76 อำเภอ ตามประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่การแพร่ระบาดปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 วิธีการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำที่ถูกต้องตามกฎหมายการประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง พ.ศ. 2567 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองซึ่งปลาหมอคางดำมีชีวิตและที่ไม่มีชีวิต นอกพื้นที่การแพร่ระบาดที่อธิบดีกรมประมงประกาศกำหนด ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 144 ของพระราชกำหนด การประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ยกเว้นให้กับการครอบครองเพื่อเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิต การเคลื่อนย้ายเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบตามโครงการของรัฐ เช่น การนำไปทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ และการเคลื่อนย้ายที่กระทำโดยทางราชการเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดและกำจัดออกจากที่จับสัตว์น้ำ สำหรับวิธีการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิต แบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่

  1. 1) การแช่เย็นด้วยน้ำแข็ง ซึ่งมีภาชนะบรรจุปิดมิดชิด 
  2. 2) การแช่แข็ง และ
  3. 3) ที่มีการแปรรูปเบื้องต้นแล้ว ส่วนการเคลื่อนย้ายเพื่อนำไปแปรรูปเป็นปลาป่นนั้นจะต้องเคลื่อนย้ายแบบแห้งและอยู่ในภาชนะที่ปิดมิดชิด 

จากปัญหาการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดพันธุ์ปลาหมอคางดำในครั้งนี้ นับเป็นบทเรียนให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้มีการตระหนักรู้ถึงผลกระทบและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับระบบนิเวศ ทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมตลอดถึงผู้ประกอบอาชีพด้านการประมง ซึ่งการศึกษาจากผลกระทบในครั้งนี้จะเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้เกิดการเฝ้าระวัง ควบคุม ตรวจสอบ รวมถึงมีการวางแผนการจัดการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีกในอนาคต อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำขึ้นแล้ว การแก้ไขปัญหาจะสำเร็จลุล่วงไปได้ก็ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อให้เกิดผลที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาต่อไป

ภาพปก