สรุปผลการเสวนาเชิงนโยบาย (TSRI Policy Forum) เรื่อง “พินิจร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ-สู่ระบบบำนาญที่พึงปรารถนา”

สรุปผลการเสวนาเชิงนโยบาย (TSRI Policy Forum) เรื่อง “พินิจร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ-สู่ระบบบำนาญที่พึงปรารถนา” วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2565 เวลา 13.00-16.00 นาฬิกา ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยโปรแกรม Zoom มีผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 100 คน เป็นบุคลากรของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 17 คน ประกอบด้วยสำนักกรรมาธิการ 1 จำนวน 1 คน สำนักกรรมาธิการ 2 จำนวน 1 คน สำนักกรรมาธิการ 3 จำนวน 3 คน และสำนักวิชาการ จำนวน 12 คน สามารถสรุปผลการเสวนาเชิงนโยบายได้ดังนี้

1. ดร.เดชรัต สุขกำเนิด (นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์การทำวิจัยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบบำนาญของประเทศ ระบบดูแลผู้สูงอายุ หรือที่เรียกว่า ระบบบำนาญแห่งชาติ สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระบบ ได้แก่ 

  1. ระบบครอบครัวดูแลกันเอง
  2. ระบบการออมเฉพาะบุคคล 
  3. ระบบประกันสังคม 
  4. ระบบสวัสดิการโดยรัฐ 

โดยสรุประบบบำนาญแห่งชาติที่เป็นระบบสวัสดิการโดยรัฐน่าจะเป็นระบบที่ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศได้มากกว่าระบบประชาชนออมโดยสมัครใจและรัฐร่วมสมทบ เนื่องจากปัจจุบันมีประชากรผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และการเริ่มออมล่าช้าก็จะทำให้เงินออมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในบั้นปลายชีวิต รวมถึงเหตุผลต่าง ๆ ที่กล่าวถึงไว้แล้วข้างต้น ทั้งนี้ ระบบสวัสดิการโดยรัฐจะทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นราว 5 แสนล้านบาท แต่จะช่วยให้ทุกกลุ่มครัวเรือนสามารถเพิ่มการออมได้และช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านสวัสดิการของประชาชน ซึ่งภาครัฐสามารถดำเนินการจัดหางบประมาณเพื่อนำมาใช้ในสวัสดิการถ้วนหน้าโดยการปรับลดงบประมาณรายจ่ายเดิมและการจัดหารายได้ภาษีเพิ่ม อาทิ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยเฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบรวมแปลงในอัตราก้าวหน้าที่มีมูลค่าตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป การเก็บภาษีที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า การยกเลิกการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผู้มีรายได้สูงได้รับประโยชน์เต็มที่ การปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกลุ่มเศรษฐฐานะเมื่อเทียบกับรายได้และสวัสดิการที่จะได้รับเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เหล่านี้จะก่อให้เกิดตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจและก่อให้เกิดอัตราการเก็บภาษีที่สูงขึ้นกลับสู่ภาครัฐ   

 

2. รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี (อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เป็นผู้มีประสบการณ์การทำวิจัยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบสวัสดิการและระบบบำนาญของประเทศ รวมทั้งได้ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับแรงงานนอกระบบให้กับคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร  

โดยสรุปสวัสดิการหลังเกษียณของประเทศไทยในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอต่อการครองชีพ ภาครัฐจำเป็นต้องปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติให้เป็นระบบบำนาญถ้วนหน้าโดยรัฐ ค่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขั้นต่ำประมาณการอยู่ที่ 3,000 บาท ต่อคนต่อเดือน และจัดเก็บภาษีมาใช้เป็นงบประมาณ อาทิ ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) ภาษีมูลค่าของทรัพย์สินสุทธิทุกประเภท (Net Wealth Tax)

 

3. ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย (อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เป็นผู้มีประสบการณ์การทำวิจัยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบสวัสดิการและระบบบำนาญของประเทศ  
หลักการพื้นฐานของระบบบำนาญแห่งชาติ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 

  • ระดับที่ 1 การยกระดับเงินออมสำหรับใช้ครองชีพในวัยผู้สูงอายุที่สามารถคุ้มครองความยากจนของประชาชนทุกคนได้ กล่าวคือ มีการประกันรายได้ขั้นต่ำไม่ให้ตกอยู่ในระดับอนาถา 
  • ระดับที่ 2 การคุ้มครองตามระดับความต้องการพื้นฐาน ซึ่งกรณีประเทศไทยคำนวณไว้ที่มัธยฐานของการบริโภคภายในครัวเรือนไทยประจำปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 6,000 บาท 
  • ระดับที่ 3 การรักษาระดับการครองชีพให้ใกล้เคียงกับวัยก่อนเกษียณ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังควรส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักเรื่องการออมเพื่อให้สามารถรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดช่วงชีวิตได้

ในแง่ของหลักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์สาธารณะได้ระบุถึงระบบบำนาญ 2 ระบบ คือ 

  • 1) ระบบบำนาญแบบกำหนดผลประโยชน์ (defined benefit)
  • 2) ระบบบำนาญแบบกำหนดเงินสมทบ (defined contribution) 

โดยสรุประบบบำนาญแห่งชาติที่เป็นระบบสวัสดิการโดยรัฐสามารถจัดหางบประมาณได้จากการจัดเก็บภาษี สิ่งที่สำคัญคือการสร้างชุดความคิดให้กับคนในสังคมเกี่ยวกับหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของคนในสังคมร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตั้งแต่ปี 2563-2565 ทำให้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศถดถอยลงไปอย่างมาก นอกจากนี้ สัดส่วนของค่าใช้จ่ายงบประมาณของประเทศเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ภาระหนี้สาธารณะ และการออกโครงการต่าง ๆ เพื่อประคองเศรษฐกิจในช่วงปี 2563-2565 ก่อให้เกิดข้อจำกัดอย่างมากในการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดสวัสดิการถ้วนหน้าโดยรัฐในปัจจุบัน แต่หากจะจัดหางบประมาณเพื่อใช้ในสวัสดิการถ้วนหน้าโดยรัฐ ในอนาคตภาครัฐควรพิจารณาปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้สำหรับผู้ที่มีฐานะร่ำรวยหรือภาษีคนรวย และภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) อาทิ ภาษีสุรา และภาษียาสูบ

 

สรุป วิทยากรทั้งสามท่านให้ความเห็นพ้องกับร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติฉบับประชาชนที่กล่าวถึงสวัสดิการถ้วนหน้าโดยรัฐซึ่งภาครัฐจะต้องจ่ายให้กับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 บาท ต่อคนต่อเดือน เพื่อให้ประชาชนวัยเกษียณมีเบี้ยยังชีพที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยจัดหางบประมาณที่จะนำมาใช้จ่ายในสวัสดิการดังกล่าวจากการจัดเก็บภาษีต่าง ๆ เช่น การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยเฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบรวมแปลงในอัตราก้าวหน้าที่มีมูลค่าตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป การปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกลุ่มเศรษฐฐานะ การเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) การเก็บภาษีมูลค่าของทรัพย์สินสุทธิทุกประเภท (Net Wealth Tax) การปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้สำหรับผู้ที่มีฐานะร่ำรวยหรือภาษีคนรวย การเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาร่วม คือ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตั้งแต่ปี 2563-2565 ทำให้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศถดถอยลงไปอย่างมาก อีกทั้งสัดส่วนของค่าใช้จ่ายงบประมาณของประเทศเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ภาระหนี้สาธารณะ และการออกโครงการต่าง ๆ เพื่อประคองเศรษฐกิจในช่วงปี 2563-2565 ก่อให้เกิดข้อจำกัดอย่างมากในการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดสวัสดิการถ้วนหน้าโดยรัฐในสถานการณ์ปัจจุบัน 

Participants

นางสาววิลาสิณี ฉายรัตน์ตระกูล, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ

Event Date
2022-03-31
Year
2022
Source of Knowledge
From a Training, Meeting or Seminar
Author
วิลาสิณี ฉายรัตน์ตระกูล, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ