พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542

Script Writer
วิริยะ คล้ายแดง, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-12
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

สหกรณ์ คือ องค์การของคณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สหกรณ์ได้ริเริ่มให้มีขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 ในสมัยรัชกาลที่ 6 สหกรณ์แห่งแรกคือ "สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้" ตั้งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อให้เป็นแหล่งกู้เงินไปทำทุนของชาวนา ซึ่งในระยะแรกของการจัดตั้งสหกรณ์นั้น มีพระราชบัญญัติสมาคมเพิ่มเติม พ.ศ. 2459 บังคับใช้กับสหกรณ์เป็นการชั่วคราว จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 จึงได้ตราพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 และยกเลิกพระราชบัญญัติสมาคมเพิ่มเติม พ.ศ. 2459

พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2476 และ พ.ศ. 2477 เมื่อได้ใช้บังคับมาถึงปี พ.ศ. 2511 รัฐบาลจึงได้ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ใหม่ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของสหกรณ์ให้ดีขึ้น โดยตราพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 ต่อจากนั้นมีการแก้ไขเพิ่มเติม ส่วนที่ 8 ว่าด้วยกลุ่มเกษตรกรในปี พ.ศ. 2515 และแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้ง จึงประกาศใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2524 ทั้งนี้ พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมได้ใช้บังคับมาจนถึงปี พ.ศ. 2542 ซึ่งสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในขณะนั้นได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวดว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 85 กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนและคุ้มครองระบบสหกรณ์ ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้เป็นแรงผลักดันให้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ใหม่ คือ พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ซึ่งประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2542 เพื่อคุ้มครอง ส่งเสริมและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์

พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มีบทบัญญัติทั้งสิ้น 10 หมวด 138 มาตรา และบทเฉพาะกาล แม้ว่าบทบัญญัติทั้งหมดในพระราชบัญญัติฉบับนี้มีพื้นฐานมาจากพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 เช่น บทบัญญัติในเรื่องการจัดตั้งสหกรณ์ นายทะเบียนสหกรณ์ การดำเนินงานของสหกรณ์ การเลิกสหกรณ์ เป็นต้น แต่มีอยู่หลายเรื่องที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้แก้ไขเพิ่มเติม ได้แก่ การจัดระบบสหกรณ์ให้สหกรณ์มีชนิดเดียว คือ สหกรณ์ที่สมาชิกมีความรับผิดจำกัดเท่าจำนวนหุ้นที่ถือ เพื่อให้สหกรณ์พัฒนาไปด้วยความมั่นคงในด้านการกำกับและส่งเสริมกิจการสหกรณ์ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่เสนอความเห็นต่อรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ จัดให้มีกองทุนเพื่อพัฒนาสหกรณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่บรรดาสหกรณ์ ปรับปรุงองค์ประกอบและวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้มีการพัฒนาไปสู่การจัดตั้งสหกรณ์อย่างเป็นระบบ ตลอดจนปรับปรุงบทกำหนดโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2553 และประกาศใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 โดยแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบและการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการ ลักษณะต้องห้ามของกรรมการหรือผู้จัดการ หลักเกณฑ์การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย การแต่งตั้งรองนายทะเบียนสหกรณ์ เงินค่าหุ้น การตั้งผู้รับโอนประโยชน์ของสมาชิกผู้ตาย อำนาจหน้าที่ของสหกรณ์ในการรับฝากเงิน หลักเกณฑ์ในการกำหนดอัตราการเก็บค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย อำนาจของรัฐมนตรีในการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญและแนวทางการแก้ปัญหาการดำเนินการของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยให้ครอบคลุมและเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้การดำเนินกิจการของสหกรณ์สามารถลุล่วงไปได้

พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งในปี พ.ศ. 2562 และประกาศใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 โดยแก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกสหกรณ์ การกำหนดคุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น กำหนดประเภท ลักษณะของสหกรณ์ วัตถุประสงค์ และขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการของสหกรณ์ ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับสมาชิกสมทบของสหกรณ์ กำหนดหน้าที่และความรับผิดของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ ผู้จัดการ และเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์เกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสหกรณ์ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้ตรวจสอบกิจการ บทบัญญัติเกี่ยวกับงบการเงิน และบทบัญญัติเกี่ยวกับการสอบบัญชี เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่ดำเนินกิจการในทำนองเดียวกันกับสถาบันการเงินไว้เป็นการเฉพาะ และกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพื่อให้การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงกำหนดให้สหกรณ์จังหวัดเป็นนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรประจำจังหวัดเพื่อประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกลุ่มเกษตรกร และปรับปรุงบทกำหนดโทษและอัตราโทษให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

แม้ว่าสหกรณ์จะเป็นองค์กรธุรกิจ แต่จุดมุ่งหมายของสหกรณ์นั้นเป็นการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งสวนกระแสในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูงทางธุรกิจ พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จะเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญในการควบคุม ดูแล และพัฒนาระบบสหกรณ์ไทยให้เติบโตก้าวหน้า ดำรงอยู่ในธุรกิจและสังคมไทยตลอดไป

ภาพปก