กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์

Script Writer
สุภาพิชญ์ ถิระวัฒน์, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-11
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ในโลกปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมากและมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลอย่างกว้างขวาง ทั้งในรูปแบบของโทรศัพท์เคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบอินเทอร์เน็ต หรือโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งเป็นช่องทางให้มีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวกระทำความผิดในหลายลักษณะ เช่น การหลอกลวงจำหน่ายสินค้าออนไลน์ การขโมยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อนำไปทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร การนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จซึ่งกระทบต่อสิทธิของผู้อื่น ความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยของสังคม อีกทั้งคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ มีความสลับซับซ้อน มีมูลค่าความเสียหายเพิ่มมากขึ้น และจำนวนคดีมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ในอดีตสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีส่วนราชการระดับ "กองบังคับการ" ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีกระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะด้านที่รับผิดชอบคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี (บก.สสท.) สังกัดสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทำหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิด และมีการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา ป้องกัน ปราบปราม อาชญากรรมทางเทคโนโลยี แต่โครงสร้างในลักษณะดังกล่าวยังไม่สามารถรองรับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักรและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นได้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร โดยการจัดตั้งหน่วยงานระดับ "กองบัญชาการ" ขึ้นใหม่ คือ "กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)" หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ "กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์" เพื่อเพิ่มศักยภาพในการวิเคราะห์สาเหตุ รูปแบบ เครือข่ายการกระทำอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างเป็นระบบ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มีความสลับซับซ้อน มีประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก และมีมูลค่าความเสียหายสูง ให้การสนับสนุนสถานีตำรวจในการป้องกันปราบปรามคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในเบื้องต้นหากเป็นคดีที่ไม่สลับซับซ้อน และเป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี อีกทั้งได้มีการปรับปรุงโครงสร้างและกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองบังคับการและศูนย์ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย

"กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี" หรือ "กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์" จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2563 มีอำนาจหน้าที่ เช่น เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และการเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั่วราชอาณาจักร ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกฎหมายอื่น อันเป็นความผิดทางอาญาเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ดำเนินการเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือพิเศษ สนับสนุนส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นในการสืบสวนสอบสวน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการสืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มีความรู้ ความสามารถ ในการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ดำเนินการเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูล ตรวจสอบ วิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี และดำเนินการเกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐานดิจิทัล ตรวจสถานที่เกิดเหตุ และเก็บรวบรวมพยานหลักฐานดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนของหน่วยต่าง ๆ เป็นต้น

ปัจจุบัน "กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์" รับผิดชอบสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานในคดีที่มีความซับซ้อนหรือเป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่สำคัญ ได้แก่ 

1. คดีเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป 
2. คดีเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีจำนวนผู้เสียหายรวมกันตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป 
3. คดีเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีทั้งมูลค่าความเสียหาย 10 ล้านบาทขึ้นไปและมีจำนวนผู้เสียหายตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป 
4. คดีที่มีการกระทำความผิดเป็นขบวนการหรือกลุ่มบุคคลซึ่งต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน 
5. คดีที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ 
6. คดีที่ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ 
7. คดีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนโยบายป้องกันและปราบปรามเป็นพิเศษ 

แต่หากเป็นคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน เช่น อาชญากรรมทั่วไปที่คนร้ายใช้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตกระทำผิด กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์จะเป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนข้อมูลที่ต้องสืบค้นทางเทคโนโลยี รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสืบค้น พิสูจน์ทราบตัวคนร้ายร่วมกับสถานีตำรวจในท้องที่เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้รับการช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับประชาชนที่ต้องการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจ หรือหน่วยงานของกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ รวมทั้งสามารถขอคำปรึกษา แจ้งเบาะแส และขอความช่วยเหลือเรื่องคดีที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านสายด่วนหมายเลข 1441 ได้ในวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่ 08.30 นาฬิกา ถึง 16.30 นาฬิกา และทางเฟซบุ๊ก ของ "กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี" หรือหากได้มีการแจ้งความไว้ที่สถานที่ตำรวจในพื้นที่แล้วแต่ไม่มีความคืบหน้าก็สามารถแจ้งเข้ามาได้เช่นเดียวกัน ซึ่งกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์จะได้มีการประสานพื้นที่เพื่อเร่งรัดอีกทางหนึ่งด้วย 

ภาพปก