โรคลัมปี สกิน

Script Writer
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-09
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

โรคลัมปี สกิน เป็นโรคประจำถิ่นในแถบแอฟริกา ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส (Lumpy skin disease virus : LSDV) ทำให้สัตว์ประเภทโค กระบือ และยีราฟที่ได้รับเชื้ออาจมีอาการไข้ ซึม เบื่ออาหาร ซูบผอม เยื่อจมูกอักเสบ เยื่อตาขาวอักเสบ มีปริมาณน้ำลายมากกว่าปกติ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต เกิดตุ่มที่ผิวหนังบริเวณหัว คอ ขา เต้านม อวัยวะเพศ โดยโรคลัมปี สกิน ยังไม่มีรายงานการติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่สามารถติดต่อระหว่างสัตว์ด้วยกัน โดยมีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะนำโรค เช่น ยุง ริ้น แมลงวันคอก เห็บ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังอาจติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงกับสะเก็ดแผล น้ำมูก น้ำตา น้ำเชื้อ และน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรค รวมถึงการเคลื่อนย้ายสัตว์มีชีวิต จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็วและขยายเป็นวงกว้างจากภูมิภาคแถบแอฟริกากระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง เอเชียใต้ และจีน 

โดยเมื่อปี 2562 โรคลัมปี สกิน ได้มีการแพร่ระบาดมายังบังคลาเทศ จีน และอินเดีย หลังจากนั้น ในปี 2563 ได้พบการแพร่ระบาดในไต้หวัน เนปาล เวียดนาม ภูฏาน ฮ่องกง และเมียนมา จากการแพร่ระบาดดังกล่าว ทำให้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้ประเมินประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคดังกล่าว เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ระหว่างประเทศ ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงได้มีมาตรการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังตลอดจนดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคกรณีพบสัตว์ที่สงสัยป่วยด้วยโรคลัมปี สกิน โดยกำหนดให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ เก็บตัวอย่างกรณีพบสัตว์ป่วยและส่งให้สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติทันทีภายใน 24 ชั่วโมง และดำเนินการควบคุมโรคตามลักษณะของกลุ่มที่มีความเสี่ยง ตลอดจนควบคุมและป้องกันโรคในตลาดนัดค้าสัตว์ นอกจากนั้น ให้สำนักงานปศุสัตว์เขตติดตาม กำกับดูแลควบคุมโรค พร้อมทั้งสนับสนุนบุคลากร องค์ความรู้และเวชภัณฑ์ ตลอดจนให้กองสารวัตรและกักกัน ดำเนินการกำกับดูแลการดำเนินงานของด่านกักกันสัตว์อย่างเข้มงวด

ต่อมาเมื่อมีนาคม 2564 ได้ตรวจพบโคเนื้อของเกษตรกรรายย่อยซึ่งแสดงอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคลัมปี สกิน จำนวน 10 รายจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 5,000 ราย ที่อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด และหลังจากนั้นได้เกิดการแพร่ระบาดไปยังจังหวัดอื่น ๆ ส่งผลทำให้สัตว์ป่วย มีการเจริญเติบโตลดลง ให้ผลผลิตไม่เต็มศักยภาพและไม่สามารถขายได้ตามราคาที่กำหนดไว้ หากเกิดโรคในโคนมจะทำให้มีปริมาณน้ำนมลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน รวมถึงทำให้สัตว์มีปัญหาในระบบสืบพันธุ์ อาจส่งผลทำให้พ่อพันธุ์เป็นหมันชั่วคราวหรือถาวรได้ สำหรับแม่พันธุ์อาจทำให้แท้ง ทั้งนี้ หากสัตว์ที่ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาอาจส่งผลให้สัตว์ล้มตาย ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากความเสียหายที่เกิดขึ้น 

ด้วยเหตุดังกล่าวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงได้มีการขอปรึกษาหารือก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมในประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน รวมถึงการตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่อง ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการแก้ไขปัญหาโรคระบาดในโคกระบือ ตลอดจนการเสนอญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับวิธีป้องกัน รักษา และเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคอุบัติใหม่ในโค กระบือ (Lumpy skin disease virus)

นอกจากนั้น คณะกรรมาธิการสามัญสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคลัมปี สกิน รวมทั้งหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งจากการสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเร่งรัดรัฐบาลให้ดำเนินการ

ดังนั้น เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในวงเงินงบประมาณจำนวน 684,218,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ ประกอบด้วย ค่าตอบแทนอาสาปศุสัตว์ ค่าจัดซื้อวัคซีนโรคลัมปี สกิน จำนวน 5,000,000 โดส ค่าจัดซื้อเวชภัณฑ์เพื่อการฆ่าเชื้อในฟาร์มและพาหนะในการเคลื่อนย้ายสัตว์ ค่าจัดซื้อเวชภัณฑ์เพื่อการรักษาโค กระบือ จำนวน 200,000 ตัว และเพื่อการฟื้นฟู บำรุงสุขภาพสัตว์เลี้ยงของเกษตรกร จำนวน 200,000 ตัว และค่าวัสดุวิทยาศาสตร์เพื่อการแพทย์ สำหรับการเก็บตัวอย่าง ฉีดวัคซีนและรักษา เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือต่อไป

ภาพปก