ขั้นตอนการขออนุญาตปลูกกัญชา

Script Writer
จีรณัทย์ ชาญเชิงพานิช, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-09
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 เมื่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ประชาชนส่วนใหญ่อาจทราบแต่เพียงว่าสามารถปลูกกัญชาได้ในประเทศโดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ความเป็นจริงแล้ว พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลเพียงเพื่อให้สามารถนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยได้เท่านั้น ส่วนเกษตรกรไทยจะปลูกกัญชาได้นั้น ภาครัฐได้มีช่องทางเพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าสู่กระบวนการเพื่อปลูกกัญชาได้ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีกระบวนการและขั้นตอน ดังต่อไปนี้

ก่อนการปลูกกัญชาเกษตรกรจะต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อขอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนต่อสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ เพื่อขอรับใบรับรองการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนในกิจการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อปลูกกัญชาโดยเฉพาะก่อนและหลังจากได้รับรองการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนแล้ว วิสาหกิจชุมชนเหล่านั้นจะต้องร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม หรือมีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐแล้วจึงยื่นขออนุญาตผลิต (ปลูก) ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อได้รับอนุญาตแล้วให้นำใบอนุญาตให้ผลิต (ปลูก) พร้อมหนังสือสัญญาที่หน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาได้ทำข้อตกลงกันยื่นขอเพิ่มกิจการวิสาหกิจชุมชน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่วิสาหกิจชุมชนจดทะเบียน เมื่อได้เพิ่มกิจการของวิสาหกิจชุมชนแล้ว เกษตรกรจะต้องดำเนินการขออนุญาตปลูกกัญชาโดยยื่นคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่สถานที่ปลูกตั้งอยู่ เมื่อได้รับใบอนุญาตวิสาหกิจชุมชนจึงจะเริ่มดำเนินการเพาะปลูกกัญชาได้

นอกจากนั้น ในการดำเนินการยังมีข้อกำหนดที่ทางภาครัฐจะต้องกำหนดให้วิสาหกิจชุมชนที่ปลูกกัญชาต้องดำเนินการ ดังนี้

1) ด้านสถานที่เพาะปลูกต้องมีที่อยู่ที่ชัดเจนและมีโครงสร้างพื้นที่ที่ต้องจัดทำแนวเขตให้ชัดเจนปิดกั้นทั้ง 4 ด้านของพื้นที่ปลูกกัญชา รวมทั้งจำกัดจำนวนประตูเข้าออกและประตูควรทำจากวัสดุที่แข็งแรงทนทาน มีการจัดทำป้ายแสดงว่าเป็นสถานที่ผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 

2) ด้านการรักษาความปลอดภัยภายในพื้นที่ปลูกต้องมีระบบกล้องวงจรปิด โดยจัดให้มีการสำรองไฟล์ข้อมูลในอุปกรณ์รูปแบบอื่น ๆ ไว้อย่างน้อย 6 เดือน มีระบบรักษาความปลอดภัยในการผ่านเข้าออกพื้นที่ และกำหนดบัญชีรายชื่อบุคคลผู้มีสิทธิ์เข้าออกพื้นที่ รวมทั้งรายชื่อผู้รับผิดชอบพร้อมช่องทางการติดต่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน 

3) ด้านการเก็บรักษาโดยต้องจัดเตรียมสถานที่ที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์และผลผลิตที่ได้หลังจากการเก็บเกี่ยว และส่วนที่เหลือของกัญชาจะต้องรอการทำลาย โดยแยกเก็บเป็นสัดส่วนไม่ปะปนกับวัสดุอื่น พร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบเฉพาะในการควบคุมสถานที่จัดเก็บ 

4) ด้านการควบคุมการปลูกกัญชาจะต้องดำเนินการตามมาตรฐานการปลูก โดยมีรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure: SOP) ในการควบคุมการปลูกและการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีการตรวจวิเคราะห์ในทุกรอบการเพาะปลูกกัญชา และมีการจัดทำบัญชีรับจ่ายและรายงานการดำเนินการตามแบบที่กำหนด รวมถึงมีมาตรการในการควบคุมการขนส่งและทำลายกัญชาด้วย

จะเห็นได้ว่า การเพาะปลูกกัญชาโดยเกษตรกรสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องดำเนินการภายใต้วิสาหกิจชุมชนและต้องมีความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาโดยมีข้อกำหนดในการดำเนินการตามที่ภาครัฐกำหนด และจะต้องเป็นการปลูกกัญชาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยเท่านั้น

ภาพปก