รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดเรื่องการศึกษาให้เป็นหน้าที่ของรัฐในหมวด 5 มาตรา 54 สรุปสาระสำคัญว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ และให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และต้องดำเนินการกำกับส่งเสริมและสนับสนุนให้จัดการศึกษามีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล และหมวด 16 ประเด็นการปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา (4) ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัดและปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้กำหนดแนวการจัดการศึกษาปรากฏในหมวด 4 มาตรา 22, 23 สรุปสาระสำคัญ คือ “การจัดการศึกษาต้องยึดหลักผู้เรียนว่ามีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และต้องส่งเสริมผู้เรียนมีการพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ ส่วนการจัดการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ที่เน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา”
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ที่ประเทศจีนเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ทำให้ประเทศต่าง ๆ ประกาศปิดสถานศึกษา ขณะที่ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทุกประเภท ทั้งธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกินความจำเป็น รวมถึงอุตสาหกรรมบริการ ตลอดจนการดำเนินชีวิตประจำวันของคนในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อระบบการจัดการเรียนการสอนของไทยในทุกระดับชั้น ทำให้สถานการศึกษาต้องถูกปิดไปด้วยเพื่อลดช่องทางการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส ขณะที่รัฐบาลได้ออกประกาศและมีมาตรการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส อาทิ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กำหนดให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ห้ามการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท เพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ ฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เว้นแต่เป็นการดำเนินการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เลื่อนวันเปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 ไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ทำให้ประเทศไทยได้มีโอกาสทบทวนบทเรียนจากต่างประเทศเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป และมีความสอดคล้องกับมาตรการป้องกันการระบาดของโรค กล่าวคือ สถานศึกษาและครูผู้สอนจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องส่งเสริมให้เด็กนักเรียน/นักศึกษาในทุกระดับ ได้มีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยการนำรูปแบบการเรียนการสอนที่มีการจัดทำสื่อและนำเครื่องมือต่าง ๆ ที่ทันสมัยมาใช้และสามารถถ่ายทอดให้ผู้เรียนได้เข้าใจและมีความรู้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นในรูปแบบการเรียนรู้แบบออนไลน์ ถือเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนแบบเดิมที่นั่งเรียนในชั้นเรียน แต่เป็นการเรียนรู้บนฐานเทคโนโลยี (Technology–based learning) ซึ่งจะครอบคลุมวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลายรูปแบบ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำแผนการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้แก่นักเรียน ผู้ปกครอง ครูผู้สอน จำนวน 2 รูปแบบ คือ
อย่างไรก็ตาม การจัดการเรียนการสอนดังกล่าวข้างต้น พบว่า มีข้อจำกัดต่อเด็กนักเรียน/นักศึกษาในทุกระดับ ที่ครอบครัวมีฐานะยากจนไม่มีรายได้เพียงพอที่จะสนับสนุนอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนของบุตรหลานเพิ่มเติมได้ หรืออยู่ในบางพื้นที่ชนบทห่างไกลความเจริญที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึงหมู่บ้าน จะทำให้เสียโอกาสในการเรียนรู้และส่งผลให้มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้เด็กนักเรียน/นักศึกษาในทุกระดับที่ไม่มีความพร้อมเสียโอกาสทางการศึกษา ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการสำรวจความพร้อมในการเข้าถึงการเรียนของเด็กนักเรียน/นักศึกษา และจัดหาอุปกรณ์และวิธีการใช้อุปกรณ์สื่อสารการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละครัวเรือนอย่างเพียงพอและทั่วถึง และสามารถนำประเด็นปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นนำมาถอดเป็นบทเรียนในการเรียนรู้เพื่อวางแผนในการแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ของไทยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) จึงมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของการศึกษาของไทย อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และยังเป็นอีกมาตรการหนึ่งในการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสดังกล่าวจะคลี่คลายลง
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th